นักท่องเที่ยวชาวไทย-ต่างชาติ แห่เที่ยวเวียงกุมกาม กรมศิลป์ ชูเป็นอุทยานประวัติศาสตร์
นายไกรสิน อุ่นใจจินต์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ กรมศิลปากร เปิดเผยว่า สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ได้หารือร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ และผู้แทนชุมชนท้องถิ่น 4 ตำบล ได้แก่ ต.ท่าวังตาล ต.หนองผึ้ง อ.สารภี และ ต.ป่าแดด และต.หนองหอย อ.เมือง เพื่อผลักดันให้เมืองประวัติศาสตร์เวียงกุมกามเป็นพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์เวียงกุมกาม หลังจากที่ได้จัดทำโครงการศึกษาความเป็นไปได้แล้วเสร็จในปีที่ผ่านมาแล้ว ซึ่งพบข้อมูลแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของแหล่งโบราณสถานทั้งหมด ว่า สามารถผลักดันและพัฒนาเป็นพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ได้ ทั้งด้านความเชื่อมโยงแสดงถึงความสัมพันธ์ด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี สถาปัตยกรรม ศิลปกรรมกับวิถีชีวิตของผู้คนภายในเมืองเวียงกุมกามที่มีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันต่อเนื่องกันมายาวนานจนไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เห็นควรที่จะอนุรักษ์และพัฒนาเป็นอุทยานประวัติศาสตร์การมีส่วนร่วมของชุมชนแห่งแรกของไทย
พร้อมกันนี้ยังได้กำหนดยุทธศาสตร์การทำงานไว้ 5 ด้าน ได้แก่ 1.พัฒนาพื้นที่ที่มีศักยภาพสำหรับการเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมและการเชื่อมโยงเครือข่ายแบบบูรณาการ 2.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม 3.ประชาสัมพันธ์เชิงรุกและส่งเสริมการบริหารจัดการสำหรับการท่องเที่ยวภายใต้การจัดการร่วมทุกภาคส่วน 4.ประสานความร่วมมือด้านกฎหมายและกระบวนการแบบการจัดการร่วมของภาครัฐภาคประชาชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งการประกาศเป็นพื้นที่จะอยู่ในพื้นที่ขนาด 18 ไร่ และที่ผ่านมาได้มีการลงพื้นที่ไปศึกษาผลกระทบร่วมกับผู้นำท้องถิ่นและประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ อาทิ ผู้ประกอบการรถม้า รถราง ตัวแทนวัดช้างค้ำ วัดเจดีย์เหลี่ยม รวมถึงภาคท้องถิ่น สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง สำนักงานธนารักษ์ เทศบาลทั้ง 4 ตำบลของเชียงใหม่ ให้เห็นถึงความสำคัญและข้อดีการประกาศเป็นพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ ที่จะช่วยเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว สร้างงานและอาชีพแก่คนในท้องถิ่นใน 4 ตำบล ทั้งยังเกิดการประสานงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการวางแผนจัดสรรงบประมาณแบบบูรณาการ
"ปัจจุบันนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ รู้จักเวียงกุมกามเพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการพัฒนาศักยภาพ ทั้งศูนย์ข้อมูลนักท่องเที่ยวที่มีห้องจัดแสดงแบบ 360 องศา ระบบเออาร์โค้ด และการอำนวยความสะดวกต่างๆ ทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาวันละกว่า 1,000 คน ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวมีมากถึงวันละ 3,000 คน ส่วนใหญ่นิยมนั่งรถราง และรถม้า มีเส้นทางสำหรับปั่นจักรยานชมความงดงามของวัดและโบราณสถานที่สำคัญ อาทิ วัดเสาหิน ที่มีจิตรกรรมฝาหนังพระเวสสันดร ชาดก 13 กันฑ์สมัยรัชกาลที่ 3-4 รวมถึงวัดเจดีย์เหลี่ยม วัดธาตุน้อย วัดข้างค้ำ วัดอีค่าง วัดหนานช้าง วัดปู่เปี้ย วัดธาตุขาว วัดพญามังราย วัดพระเจ้าองด์ดำ ที่รองรับเส้นทางปั่นจักรยาน โดยจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการเวียงกุมกามมีส่วนท้องถิ่นร่วมเป็นกรรม โดยสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่จะคอยเป็นพี่เลี้ยงทั้งอบรมมัคคุเทศก์ท้องถิ่น รวมถึงให้ช่วยกันดูแลการบุกรุกทำลายโบราณสถานด้วย การบริหารจัดการรถม้า รถราง ปรับปรุงภูมิทัศน์ จัดทำป้ายทาง และร้านค้าต่างๆ ทั้งนี้จะมีการรายงานผลการดำเนินงานให้คณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม ที่จะลงพื้นที่ในวันที่ 6 - 7 มี.ค.นี้ได้รับทราบและมีการผลักดันต่อไป" นายไกรสิน กล่าว