xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ชี้อิสราเอลมีเอกสิทธิ์กักตัวคนไทย 14 วัน ป้องกัน "โควิด-19" ส่วนไทยใช้เฝ้าระวังประเทศเสี่ยง ยันไม่เคยสั่งห้าม รพ.ตรวจเชื้อ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.ชี้เป็นเอกสิทธิ์ของอิสราเอลในการประกาศกักตัวคนไทย 14 วันที่เดินทางไป เพื่อป้องกันโรคโควิด-19 ระบุแต่ละประเทศสามารถพิจารณาและหาวิธีรับมือตามความเสี่ยงที่เหมาะสมกับตัวเอง ส่วนไทยใช้วิธีเข้ามาได้ แต่ต้องเฝ้าระวังติดตาม ยันไม่เคยสั่งการห้าม รพ.ตรวจยืนยันเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ชี้ยิ่งปกปิด ไม่ตรวจ ยิ่งเสี่ยงการระบาดในจังหวัด ลั่นมีแต่ส่งเสริมให้ตรวจให้เร็วและไว

วันนี้ (18 ก.พ.) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีกระทรวงสาธารณสุขอิสราเอลประกาศให้บุคคลที่เดินทางจากประเทศไทย สิงคโปร์ เขตปกครองพิเศษฮ่องกง และมาเก๊า หากเดินทางเข้าประเทศต้องถูกกักตัวที่บ้าน (Home Quarantine) 14 วัน โดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ได้เตือนให้คนไทยงดการเดินทางไปประเทศอิสราเอล สะท้อนถึงต่างชาติมองไทยมีการติดเชื้อจนต้องเฝ้าระวังหรือไม่ ว่า ทุกประเทศมีเอกสิทธิ์ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งวิธีจำกัดการเดินทางมีหลายระดับ คือ 1.ห้ามนำเข้าเลยหรือแบนไม่ให้เข้าประเทศเลย  2.สามารถเดินทางเข้ามาได้ แต่ต้องอยู่กับบ้านเป็นเวลา 14 วันก่อน 3.สามารถเข้ามาได้ แต่ให้เฝ้าระวัง 14 วัน และมีการติดตาม โดยขอความร่วมมือตั้งแต่บนเครื่องบินในการให้ข้อมูล สนามบินในการคัดกรอง และโรงพยาบาล เมื่อเจอนักเดินทางป่วยไข้ไอเจ็บคอ ให้นึกถึงโรคโควิด-19 ไว้ก่อน และตรวจหาเชื้อ และ 4.ไม่มีการทำอะไรเลย ยินดีต้อนรับทุกคน โดยไม่มีการคัดกรองอะไร

"อิสราเอลเขาคงวิเคราะห์ความเสี่ยงของเขา ซึ่งการเข้าประเทศมีหลายระดับอย่างที่กล่าว แต่ละประเทศก็ต้องเลือกตามความเสี่ยงที่คิดว่า จะจัดการความเสี่ยงนั้นได้ ดังนั้น หากใครจะไปอิสราเอล เช่น ต้องไปประชุม ก็ต้องเผื่อเวลาไปก่อนล่วงหน้า 14 วัน เพราะต้องถูกกักตัวก่อน 14 วัน ถึงจะออกไปทำธุระอย่างอื่นได้ ก็ต้องพิจารณาว่า สมควรที่จะไปหรือไม่" นพ.ธนรักษ์ กล่าว

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยยังใช้ระดับที่ 3 คือเข้ามาได้ แต่จะมีการติดตามและให้เฝ้าระวัง หากมีอาการให้รีบมาพบแพทย์ อย่างประเทศที่เฝ้าระวังเพิ่มคือสิงคโปร์และญี่ปุ่นก็ใช้วิธีการนี้ โดยยืนยันว่า ไม่ทำให้นักท่องเที่ยวหรือคนที่เดินทางกลับมาต้องเข้าเมืองลำบากมากขึ้น เพราะยังสามารถขึ้นเครื่องบินมาได้ตามปกติ ขณะนี้ยังไม่มีการร้องขอให้ทำการคัดกรองขาออก (Exit Screening) เมื่อมาถึงก็จะมีระบบตรวจคัดกรอง ซึ่งบางเที่ยวบินอาจมองว่าไม่มีการตรวจ แต่จริงๆ แล้วมีการตรวจแต่อาจมองไม่เห็น ซึ่งหากไม่มีไข้ก็สามารถเข้าเมืองได้ตามปกติ และปฏิบัติตามคำแนะนำที่ให้ไว้ คือ มีอาการไข้ ทางเดินหายใจใน 14 วันให้รีบมาพบแพทย์ เรียกว่าไม่ยุ่งยากอะไรเลย เพราะการดำเนินงานเป็นฝ่ายภาคสาธารณสุขในการลงไปจัดระบบตรวจคัดกรอง

เมื่อถามถึงกรณีข่าวนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสั่งการไม่ให้มีการตรวจยืนยันเชื้อ เพราะกลัวเจอผู้ป่วย นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษก สธ. กล่าวว่า สธ.ไม่เคยมีนโยบายหรือข้อสั่งการใดๆ ห้ามตรวจ มีแต่ส่งเสริมให้ตรวจค้นหาเพิ่ม ซึ่งเรามีการปรับระบบและเกณฑ์การค้นหาให้ไวขึ้นตลอด

นพ.ธนรักษ์  กล่าวว่า โรคแพร่ระบาดเร็ว การไม่ตรวจยืนยันเชื้อจะเป็นผลร้ายกับจังหวัด เพราะการไม่ตรวจ คือ ไม่สามารถลงไปควบคุมโรคได้เร็ว จังหวัดไหนที่มีการทำแบบนี้ จะมีการแพร่ระบาดเป็นจังหวัดแรกๆ ซึ่งไม่คิดว่าจะมีใครที่คิดได้แบบนี้ที่จะให้บ้านเมืองตัวเองมีการแพร่ระบาดเป็นจังหวัดแรกของไทย เพราะมาตรการที่ดีที่สุดในการควบคุมโรคและยืดเวลาแพร่ระบาดออกไป คือ ตรวจเฝ้าระวังให้ได้เร็วที่สุด ซึ่งแพทย์ทุกคนเข้าใจหลักการนี้ดี ซึ่งสุดท้ายหากไม่มีการตรวจ ความจริงก็จะโผล่ออกมาว่าเจอปัญหาผู้ป่วยและการระบาดในพื้นที่จำนวนมาก ซึ่งเราไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์อย่างนั้นขึ้น

เมื่อถามถึงข่าวมาเลเซียระบุว่านักธุรกิจชาวมาเลเซียเดินทางมาประเทศไทยแล้วตรวจพบว่ามีการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า เรามีการติดตามเคสนี้แล้ว จากการตรวจสอบพบว่า ไม่ใช่ชาวมาเลเซีย แต่คนนี้มีการเดินทางเข้ามาประเทศไทยเพียงคืนเดียวแล้วกลับออกไปเลย ตอนเข้ามาไม่มีอาการ ตอนกลับไปมีอาการ และสอบสวนโรคเพื่อดูว่ามีอาการชัดๆ วันไหนกันแน่ มีอาการตั้งแต่ตอนกลางคืนหรือไม่ เพื่อค้นหาผู้สัมผัสต่อไป ซึ่งจากการสอบสวนพบว่า รายนี้ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อที่เมืองไทยแน่นอน และน่าจะติดเชื้อมาก่อนหน้านี้ เราจึงต้องป้องกัยฝั่งเราเต็มที่




กำลังโหลดความคิดเห็น