xs
xsm
sm
md
lg

อย่ากังวลแค่โคโรนา พบ "ไข้หวัดใหญ่" ป่วยแล้ว 3.6 หมื่น ตาย 1 ราย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมควบคุมโรค เตือนอากาศเปลี่ยนแปลง เสี่ยงป่วยไข้หวัดใหญ่ง่าย พบ 1 เดือน ป่วยแล้ว 3.6 หมื่นราย ตาย 1 ราย เด็กเล็กเสี่ยงป่วยมากสุด แนะยึดหลัก “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ทุกสายพันธุ์

วันนี้ (11 ก.พ.) นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า จากรายงานของกรมอุตุวิทยาพบว่า ในช่วงนี้สภาพอากาศในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย โดยจะมีอากาศเย็นอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้ประชาชนเจ็บป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ได้ จึงขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพและป้องกันตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็กในโรงเรียนซึ่งเป็นสถานที่ที่คนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก สำหรับโรคไข้หวัดใหญ่สามารถติดต่อจากการไอ จามรดกัน หรือจากการสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้อโรค เช่น แก้วน้ำ ลูกบิดประตู เป็นต้น สำหรับอาการของโรคจะคล้ายไข้หวัด แต่จะมีอาการปวดกล้ามเนื้อและปวดศีรษะ อ่อนเพลีย แต่สามารถหายเองได้ใน 5-7 วัน ดังนั้นหากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมงหรือผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ควรรีบพบแพทย์ทันที อย่างไรก็ตามในประเทศไทยมีรายงานพบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี โรคนี้เป็นโรคที่เกิดขึ้นตามฤดูกาล ไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่ แต่จะพบมากในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว

นพ.อัษฎางค์ กล่าวว่า สถานการณ์ของโรคไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 3 กุมภาพันธ์ 2563 พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ จำนวน 36,976 ราย เสียชีวิต 1 ราย พบมากสุดในกลุ่มเด็กเล็กและเด็กวัยเรียนอายุ 0-4 ปี รองลงมาอายุ 10-14 ปี และอายุ 7-9 ปี ส่วนจังหวัดที่อัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ เชียงใหม่ พะเยา หนองคาย กรุงเทพมหานคร และเชียงราย ตามลำดับ ทั้งนี้ สามารถป้องกันตนเองจากโรคไข้หวัดใหญ่ ควรหลีกเลี่ยงสถานที่ซึ่งมีผู้คนแออัด ควรมีการเฝ้าระวังการป่วย และคัดแยกผู้ป่วยออกจากคนที่ปกติ เนื่องจากอาจเสี่ยงต่อการรับเชื้อได้ง่าย ทั้งนี้ ประเทศไทยได้มีการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่แก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยง และมีระบบการรักษาที่ได้มาตรฐานเพื่อป้องกันโรคและภัยสุขภาพแก่ประชาชน รวมถึงยึดหลัก “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” คือ ปิดปากและปิดจมูก เมื่อไอ จาม ต้องใช้หน้ากากอนามัย ผ้า หรือกระดาษทิชชูปิดปากและจมูกทุกครั้ง ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ เมื่อสัมผัสสิ่งของ เช่น กลอนประตู ลูกบิด ราวบันได  หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย และหยุดเรียน หยุดงาน เมื่อป่วยแม้จะมีอาการไม่มาก ก็ควรหยุดพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงขอให้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด หากมีอาการข้างต้นให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่สถานพยาบาล


กำลังโหลดความคิดเห็น