กรมควบคุมโรค ห่วง “เครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์” หรือ “เบียร์ 0%” ตีตลาดกลุ่มคนทำงาน ผู้ปกครอง ปลูกฝังภาพจำเด็กรุ่นใหม่ดื่มได้ ไม่เมา เปลี่ยนทัศนคติดื่มเบียร์เป็นเรื่องปกติ หวั่นสร้างนักดื่มหน้าใหม่ ในอนาคต
วันนี้ (8 ก.พ.) นพ.ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวถึงกระแสเครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์ หรือ “เบียร์ 0%” ว่า เนื่องจากมีลักษณะเหมือนกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกประการ แต่เมื่อไม่มีแอลกอฮอล์ จึงมักทำการตลาดได้อย่างสินค้าทั่วไป เพื่อหวังขยายฐานลูกค้า ทำกำไรเพิ่มยอดขายให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพราะกฎหมายทำอะไรไม่ได้ ใช้ชื่อและตราสัญลักษณ์คล้ายกัน จนแทบจะแยกไม่ออกและอาจจะเป็นโอกาสในการแอบอ้างชื่อเบียร์ 0% ของผู้ประกอบการที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปกติร่วมกันกับเบียร์ 0% ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้วัยรุ่นและเยาวชนทดลองรสชาติเบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์ นำไปสู่การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จริงได้ในอนาคต
นพ.ขจรศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังพบว่าแผนการตลาดของเบียร์ 0% ทางบริษัทผู้ผลิต เน้นเป้าหมายลูกค้า 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มคนทำงาน 2.กลุ่มผู้ปกครองรุ่นใหม่ 3.กลุ่มดูแลสุขภาพ 4.กลุ่มที่มีประสบการณ์ชีวิต โดยทั้ง 4 กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มวัยรุ่นถึงวัยกลางคนที่เป็นกลุ่มหลักในการดื่มแอลกอฮอล์อยู่แล้ว ฉะนั้นการที่วัยรุ่นหรือเยาวชนเห็นเบียร์ 0% ในแง่จิตวิทยา เป็นการสร้างการเรียนรู้ทางสังคม การปลูกฝังเบียร์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์ หรือเบียร์ 0% กลายเป็นว่าคนทั่วไปนึกว่าให้ลูกดื่มได้ ให้เด็กดื่มได้ เพราะไม่มีแอลกอฮอล์ ไม่ใช่เบียร์หรือเหล้า ไม่ทำให้เมา อาจกลายเป็นการปลูกฝังให้รู้จักเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น พอโตขึ้นนำไปสู่การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ง่ายขึ้น เป็นการมุ่งเปลี่ยนพฤติกรรมการดื่มเบียร์เป็นเรื่องปกติ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างนักดื่มหน้าใหม่
"ประชาชนส่วนใหญ่เมื่อเห็นโฆษณาเครื่องดื่มเบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์ หรือเบียร์ 0% จะนึกถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า ซึ่งเป็นการโฆษณาทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในสาระสำคัญของสินค้า อีกทั้งการจำหน่ายสามารถทำได้อย่างอิสระ และอาจทำให้ประชาชนสับสนกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ จึงให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้ดำเนินการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดจริงจัง" นพ.ขจรศักดิ์ กล่าว