ปชช.ซื้อหน้ากากเจอแบบบาง ห่วงกันเชื้อไม่ได้ สธ.แจงเลือกที่มี มอก.จะได้มาตรฐาน ย้ำหน้ากากอนามัยป้องกันได้ แต่ไม่ได้ลดความเสี่ยงติดเชื้อจนเป็นศูนย์ แต่ต้องล้างมือบ่อยๆ ด้วย เพราะมือสัมผัสจับหน้ากาก ก็อาจสัมผัสเชื้อได้
เตือนภัยระวัง "หน้ากากอนามัยปลอม" ทะลักเข้าไทย ทั้งบางเฉียบ แถมป้องกันเชื้อโรคไม่ได้
วันนี้ (7 ก.พ.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีข้อกังวลเรื่องหน้ากากอนามัยพิมพ์ลายมีขนาดบางจะสามารถป้องกันการติดเชื้อได้หรือไม่ว่า หน้ากากอนามัยต้องพิจารณา 3 เรื่อง คือ 1.คุณภาพคุณสมบัติของหน้ากาก 2.คนสวมใส่หน้ากาก คือ ป่วยหรือไม่ ยิ่งคนป่วยต้องยิ่มสวมหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ เพื่อป้องกันเชื้อที่ออกมาพร้อมละอองฝอยน้ำมูกน้ำลาย รวมถึงคนที่ต้องสัมผัสใกล้ชิดคนจีน หรือผู้ปฏิบัติงานเกี่วกับผู้ป่วย และ 3.พฤติกรรม เพราะแม้จะสวมหน้ากาก แต่หากมีการจับหน้ากากบ่อยๆ ก็อาจสัมผัสเชื้อออกมาสู่สาธาณะได้ ดังนั้นจึงต้องมีการล้างมือบ่อยๆ
นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดี คร. กล่าวว่า เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุใหม่ 2019 แพร่ผ่านการกระจายของน้ำมูกน้ำลายเรียกว่า Droplet ไม่ใช่การแพร่กระจายผ่านอากาศ (Airborne) ดังนั้น การป้องกันที่ดีที่สุดของโรคระบบทางเดินหายใจ คือ ผู้ป่วยต้องแยกตัว พักผ่อนอยู่กับบ้าน งดออกไปเจอคนอื่น หรือหากจำเป็นต้องออกไป เช่น ไปพบแพทย์ ก็สวมหน้ากากอนามัย ส่วนคนสบายดี การเดินสวนผ่านไปมาความเสี่ยงในการติดเชื้อต่ำมาก แม้กระทั่งการพูดคุยทักทายในระยะ 2-3 วา ก็ต่ำมากยกเว้นการพูดคุยใกล้ชิดในระยะ 1-2 เมตร และนานพอสมควร ซึ่งระยะเวลาในการเฝ้าระวังคือต้องเกิน 5 นาทีขึ้นไป หรือในสถานที่ปิดนานเกิน 5 นาที ถึงมีโอกาสเสี่ยงสูงต้องเฝ้าระวัง ดังนั้น คนกลุ่มนี้จึงควรสวมหน้ากากอนามัย ซึ่งก็จะช่วยป้องกันได้บ้าง แต่ก็ไม่ได้ลดความเสี่ยงลงจนเป็นศูนย์
นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การเลือกหน้ากากอนามัย ต้องเลือกที่ได้มาตรฐานคือมี มอก. อย่างไรก็ตาม อย่างที่บอกว่าคนไม่ป่วยสวมหน้ากากผ้าก็เพียงพอ ก็พอจะช่วยป้องกันการรับเชื้อได้ แต่เรื่องของการหน้ากากอนามัยไม่ใช่ส่วนเดียวในการป้องกันเชื้อ เพราะการที่มือยังคงจับหน้ากาก ก็อาจสัมผัสเชื้อได้ การล้างมือบ่อยๆ จึงเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ต้องทำเพื่อป้องกัน