xs
xsm
sm
md
lg

รักษาและป้องกันไมเกรนยุคใหม่ ด้วยยาต้านสาร CGRP

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย...เรืออากาศโท นพ.กีรติกร ว่องไววาณิชย์ อายุรแพทย์สมองและระบบประสาท รพ. กรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล

อาการปวดศีรษะไมเกรน เชื่อว่าหลายคนคงได้ยินชื่อนี้ หรือบางคนอาจจะเป็นโรคนี้อยู่ก็ได้  ไมเกรนถือเป็นโรคทางระบบประสาทชนิดเรื้อรัง พบได้มากถึง 20% ของประชากร โดยผู้หญิงมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ชาย  2-3 เท่า

ปัจจัยเสี่ยงได้แก่ ความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ การรับประทานอาหารที่มีสารไทรามีน เช่น ชีส โยเกิร์ต เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน หรือ แอลกอฮอล์ รวมทั้งระดับฮอร์โมนเพศหญิงช่วงมีประจำเดือน เวลามีอาการไมเกรนขึ้นมา จะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะรุนแรงมักป็นข้างใดข้างหนึ่ง ปวดแบบตุ้บๆ เป็นจังหวะ ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้-อาเจียน ร่วมกับมีอาการไวต่อสิ่งกระตุ้นจากภายนอกเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะแสงจ้า เสียงดัง หรือ กลิ่นฉุน ในบางครั้งอาจมีรุนแรงมากจนถึงขั้นต้องหยุดงานนอนพักกันทีเดียว


ปัจจุบันมีการค้นพบสาร CGRP เป็นนิวโรเปปไทด์ชนิดหนึ่งในร่างกาย มีผลทำให้หลอดเลือดในสมองขยายตัวและกระตุ้นอาการปวดผ่านเส้นประสาท สาร CGRP นี้มีปริมาณสูงขึ้นในคนที่เป็นไมเกรน ดังนั้นการใช้ยาฉีดยับยั้งสาร CGRP นี้ จึงเป็นหนึ่งในทางเลือกสำหรับผู้ป่วยไมเกรน ทำให้สามารถป้องกันและควบคุมอาการปวดศีรษะไมเกรนได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย

เวลาเกิดอาการปวดศีรษะ เรามักจะหายาแก้ปวดมารับประทาน โดยกลุ่มยาที่ใช้รักษาอาการปวดแบบเฉียบพลัน เช่น ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ยากลุ่มทริป-แทน (triptans) และยากลุ่มเออร์โกตามีน (ergotamine) แต่สำหรับคนที่เป็นไมเกรนนั้น บางคนอาจจะมีอาการปวดศีรษะได้บ่อยเกือบทุกวัน อีกทั้งการรับประทานยาแก้ปวดก็มักจะไม่หาย ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ไม่สามารถเข้าสังคมหรือทำงานได้ตามปกติ รวมถึงคุณภาพชีวิตแย่ลง

ดังนั้น การรักษาแบบป้องกันจึงมีความสำคัญในคนไข้กลุ่มที่เป็นโรคปวดศีรษะไมเกรน โดยเฉพาะในผู้ที่ปวดศีรษะบ่อย มีความรุนแรงในการปวดมาก ไม่ตอบสนองต่อยาแก้ปวดที่รับประทาน หรือมีข้อห้ามหรือมีผลข้างเคียงจากการใช้ยาแก้ปวด

ยาป้องกันไมเกรนชนิดรับประทานที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เช่น ยากันชัก ยาต้านเศร้า ยาลดความดัน ซึ่งยาเหล่านี้เป็นยาที่ไม่ได้ผลิตมาเพื่อการรักษาและป้องกันโรคไมเกรนโดยตรง แต่สามารถนำมาใช้ลดความถี่และความรุนแรงของไมเกรนได้ การค้นพบสาร Calcitonin Gene-related Peptide หรือ เรียกย่อๆ ว่า CGRP ซึ่งเป็นนิวโรเปปไทด์ชนิดหนึ่งในร่างกาย ออกฤทธิ์เกี่ยวกับกลไกการรับความปวดผ่านเส้นประสาทสมอง โดยเฉพาะเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 ซึ่งเป็นเส้นประสาทหลักในการนำความปวดบริเวณศีรษะ ต้นคอ และใบหน้า


สาร CGRP ยังมีฤทธิ์ทำให้เส้นเลือดสมองเกิดการขยายตัว ซึ่งในคนที่เกิดอาการปวดศีรษะไมเกรนเฉียบพลัน จะพบว่ามีสาร CGRP ในเลือดสูงขึ้นมากกว่าคนปกติ ซึ่งการค้นพบสาร CGRP นี้ ได้นำไปสู่   การพัฒนายาเพื่อไปยับยั้งสาร CGRP ในปัจจุบันมียาที่ยับยั้งสาร CGRP อยู่ 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ CGRP monoclonal antibody และ CGRP receptor antagonist

จากการศึกษาในคน พบว่ายาในกลุ่ม CGRP monoclonal antibody สามารถลดจำนวนวันที่ปวด   ไมเกรน และลดปริมาณการใช้ยาแก้ปวด รวมทั้งยังเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยไมเกรนอีกด้วย การศึกษาในผู้ป่วยไมเกรนชนิดรักษายาก เช่น ไมเกรนชนิดเรื้อรัง (Chronic migraine) ไมเกรนชนิดที่ไม่ตอบสนองต่อยาป้องกันชนิดอื่นๆ (prior preventive treatment failure)  และ ไมเกรนชนิดที่มีการใช้ยาแก้ปวดเกินขนาด (medication overuse headache) จะตอบสนองต่อยาในกลุ่ม CGRP monoclonal antibody ได้ดีกว่ายาป้องกันชนิดรับประทานอื่น ๆ โดยยากลุ่มนี้จะฉีดเข้าใต้ผิวหนัง มีข้อดีคือ ในการฉีดแต่ละครั้ง จะมีฤทธิ์ในการป้องกันนานประมาณ 1 เดือน จึงช่วยลดปัญหาการลืมรับประทานยา และยังมีผลข้างเคียงจากยาน้อยกว่ายาป้องกันไมเกรนกลุ่มอื่นอย่างชัดเจน

ผลข้างเคียงที่พบมากกว่ายาหลอก เช่น เจ็บหรือมีรอยแดงบริเวณที่ฉีดยา ติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน และ ท้องผูก ซึ่งเป็นผลข้างเคียงชนิดไม่รุนแรง ส่วนในด้านความปลอดภัยระยะยาว โดยการติดตามผู้ที่ใช้ยาประมาณ 3-5 ปี พบว่า CGRP monoclonal antibody มีความปลอดภัยสูงต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจไม่เปลี่ยนแปลง รวมทั้งไม่มีผลต่อการทำงานตับ

โดยสรุป โรคปวดศีรษะไมเกรนเป็นโรคที่มีความรุนแรง ส่งผลกระทบทั้งต่อร่างกาย จิตใจ และสังคม รวมถึงคุณภาพชีวิต การรักษาโดยการใช้ยาป้องกันจะสามารถลดความรุนแรงของโรคได้ ยาในกลุ่ม CGRP monoclonal antibody ออกฤทธิ์จำเพาะเจาะจงกับโรคปวดศีรษะไมเกรนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในผู้ป่วยไมเกรนชนิดเรื้อรังหรือไม่ตอบสนองต่อยาป้องกันอื่นๆ และมีการศึกษาระยะยาวที่ยืนยันถึงประสิทธิภาพของการรักษาและความปลอดภัย




กำลังโหลดความคิดเห็น