"อนุทิน" เผยรอผลแล็บยืนยันผู้ป่วยไวรัสอู่ฮั่น หากไข้หาย ไม่มีไวรัสแล้ว สามารถกลับประเทศได้ คาดกลับได้ในวันนี้ ส่วนอีก 3 รายไม่ใช่เชื้ออู่ฮั่นรอผลแล็บก็กลับบ้านได้เช่นกัน เหตุต้องตรวจเข้มเพราะไม่อยากพลาด แจงแนวทางรักษาต้องทำให้หายไข้ ไม่ให้อาการหนักขึ้น เหตุร่างกายกำจัดเชื้อไวรัสได้เอง
วันนี้ (14 ม.ค.) ที่สถาบันบำราศนราดูร นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เดินทางมาเยี่ยมและให้กำลังใจผู้ป่วยหญิงชาวจีนอายุ 61 ปี ที่เดินทางจากอู่ฮั่น ประเทศจีน มาท่องเที่ยวประเทศไทย และมีอาการไข้สูง อาการทางเดินหายใจ ซึ่งผลตรวจทางห้องปฏิบัติการพบว่า ป่วยด้วยเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่แบบเดียวกับเมืองอู่ฮั่น แต่ขณะนี้อาการดีขึ้น ไม่มีไข้และอาจเตรียมตัวกลับประเทศได้เร็วๆ นี้ ว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยที่ยังรักษาตัวอยู่ในสถาบันบำราศนราดูร 4 ราย โดยยืนยันติดเชื้อไวรัสอู่ฮั่น 1 ราย เป็นหญิงชาวจีนอายุ 61 ปี แต่ไม่มีไข้ก็ถือว่าหายแล้ว แต่ขั้นตอนทางการแพทย์เรื่องการระบาดข้ามประเทศ จะต้องมีการยืนยันผลแล็บก่อน ทั้งจากทางฝั่ง สธ.และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อยืนยันว่า เชื้อหายแล้ว ไข้หายแล้ว ก็จะปล่อยให้กลับประเทศไป ส่วนอีก 3 ราย ที่มารับการรักษา คือ มีไข้ อาการทางเดินหายใจ และมาจากอู่ฮั่น ก็มีความจำเป็นที่จะต้องแยกตัวมารักษา แต่ผลออกมาว่า ไม่ใช่เชื้อที่เฝ้าระวัง เป็นเชื้อหวัดธรรมดา เมื่อหายแล้วและรอผลตรวจแล็บยืนยันเพิ่มเติมว่าไม่มีเชื้อ ก็ให้กลับบ้านได้ ซึ่งบางคนก็ประสงค์จะอยู่ท่องเที่ยวต่อก็ไม่มีปัญหา
นายอนุทินกล่าวว่า ผู้ป่วยที่อยู่ในห้องแยกโรคความดันลบเท่าที่พูดคุยผ่านทางอินเตอร์คอม ก็พบว่า มีความอึดอัดบ้าง มีการล็อกห้อง 2-3 ชั้น ก็อาจเกิดอาการเครียดเป็นธรรมดา เราก็พยายามให้ตามใจเขา บางรายอยากขอกินไก่ทอดเราก็หาให้ เพราะเข้าใจเวลาคนป่วย เขาไม่สามารถออกมาเดินตามทางเดิน ต้องอยู่ติดห้องตลอดเวลา ส่วนที่ตนเดินทางมาเยี่ยมก็ได้ให้กำลังใจ และบอกให้เขาหายเร็วๆ และให้มีสภาพจิตใจที่ดี ขอให้อดทนอีกนิดนึง เราก็อยากปล่อยอยู่แล้ว เพราะต้นทุนก็มหาศาลดูแลผู้ป่วยเพื่อไม่ให้เชื้อออกไป ทั้งนี้ อยากจะเรียนพี่น้องประชาชนให้ทราบว่า ที่ยืนยันคือไม่ต้องตื่นตระหนกเกินเหตุ แต่ช่วงนี้ถ้าไม่ไปอู่ฮั่นได้ก็อย่าไป และหลีกเลี่ยงไปในที่มีคนเยอะแยะ แม้แต่ในไทย ใครไอจามมีน้ำมูกห่างได้ก็ดี ถือเป็นการดูแลตนเองตามปกติ
"ผลแล็บของผู้ป่วยก็คงออกเร็วๆ นี้ หากปกติก็กลับบ้านได้ทันที แต่เราก็จะดูให้ชัวร์ที่สุด เพราะบุคลากรสาธารณสุข ตรวจคนเข้าเมือง ก็ทุ่มเทมหาศาล เราก็ไม่อยากพลาด ทั้งนี้ เมื่อเราเจอต้นตอของโรคแล้วก็ต้องพยายามทำให้เชื้อหายไปเร็วที่สุด โดยรักษาให้ดี ควบคุมเรื่องไข้ ไม่ให้อาการป่วยเป็นไปมากกว่านี้หรือแย่กว่านี้ เพราะทางการแพทย์บอกว่า ร่างกายมนุษย์จะสร้างภูมิต้านทานขึ้นมากำจัดเชื้อไปได้ด้วยตัวเอง เนื่องจากตอนนี้ยังไม่มียาหรือวัคซีนอะไรรักษา การรักษาอาการที่เกิดขึ้นเพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานขึ้นมา แต่ต้องมาถึงหมอทันเวลา" นายอนุทินกล่าว
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าขณะนี้ผู้ป่วยชาวจีนที่เข้ารับการรักษาที่สถาบันบําราศนราดูรอาการดีขึ้นไม่มีไข้แต่เนื่องจากยังมีการตรวจพบสารพันธุกรรมของโคโรนาไวรัสในสิ่งส่งตรวจจึงยังไม่สามารถปล่อยตัวให้กลับบ้านได้เพราะขณะนี้เรายังมีข้อจำกัดเรื่องข้อมูลของโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่จึงไม่อาจปล่อยให้เกิดความเสี่ยงที่จะไปแพร่เชื้อต่อประชาชนในพื้นที่สาธารณะได้ เราต้องดำเนินมาตรการควบคุมป้องกันโรคสูงสุดเทียบเท่าการติดเชื้อเมอร์ส อย่างไรก็ตามคาดว่าผู้ป่วยน่าจะสามารถออกจากห้องแยกโรคได้ในวันนี้ ทั้งนี้ สารพันธุกรรมหากจะให้เปรียบเทียบก็เหมือนกับมนุษย์เมื่อเสียชีวิตแล้ว ยังสามารถตรวจหาดีเอ็นเอได้ ดังนั้นแม้เชื้อโคโรนาก็เหมือนกัน แม้เชื้อตายแล้วแต่เรายังสามารถตรวจหาสารพันธุกรรมได้ อย่างไรก็ตาม ณ เวลานี้เราได้เก็บตัวอย่าง เชื้อเอามาเพราะเพื่อหาข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องต่อไป
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในไทยรายแรก ไม่ได้ติดในประเทศไทย แต่เป็นการเข้ามาในประเทศ โดยตรวจพบที่ด่านสุวรรณภูมิอย่างทันท่วงที ส่วนข้อมูลต่างๆ ต้องรอข้อมูลจากทางจีน ซึ่งได้มีการประสานข้อมูลจากจีน และองค์การอนามัยโลกอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ หากมีประวัติเคยไปอู่ฮั่นภายใน 14 วัน และมีไข้ มีอาการของระบบทางเดินหายใจตั้งแต่น้อยไปมาก ก็ควรพบแพทย์จะดีที่สุด
นพ.อภิชาต วชิรพันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูร กล่าวว่า ขณะนี้ทางสถาบันฯ ยังได้รับตัวชาวจีน 3 รายเข้ามารับการดูแลในห้องแยกโรคเพื่อเฝ้าระวังการติดเชื้อไวรัสโคโรนาด้วย เนื่องจากตรวจพบว่ามีไข้ รายแรกเป็นเด็กอายุ 6 ขวบเข้ามารับการดูแลที่สถาบันบำราศฯ เมื่อวันที่ 12 ม.ค. ที่ผ่านมา ส่วนอีก 2 รายเป็นเด็กอายุ 5 ขวบและผู้สูงอายุ อายุ 75 ปีเข้ามารับการดูแลเมื่อวันที่ 13 ม.ค. ที่ผ่านมาขณะนี้ได้เก็บตัวอย่างสิ่งส่งตรวจไปตรวจทางห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คาดว่าจะทราบผลการตรวจเร็วๆ นี้