xs
xsm
sm
md
lg

ทำอย่างไรไม่ให้เป็นคนคิดมาก/ดร.สุพาพร เทพยสุวรรณ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เราทุกคนต่างก็รู้ดีว่าสมองเป็นอวัยวะสำคัญที่ช่วยในการเรียนรู้ ทำให้เกิดความคิดและกักเก็บข้อมูลความจำขึ้นมาเพื่อชี้นำการตัดสินใจในเรื่องต่างๆที่เข้ามาในชีวิต แต่จะเกิดอะไรขึ้นหากชีวิตของเราถูกติดตรึงอยู่กับความคิดในเรื่องเดิมๆวนเวียนอยู่อย่างนั้นซ้ำไปซ้ำมา
“ภาวะคิดมาก” หรือ “Overthinking” เป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเราอย่างคาดไม่ถึง เนื่องจากคนเราย่อมต้องมีสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตมากมายหลากหลายเรื่องราว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียน การงาน การใช้ชีวิต ความรักหรือการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ แต่ละเรื่องราวล้วนมีทั้งสิ่งที่ดีและร้ายให้ต้องนำไปคิดและจดจำมากมาย น่าแปลกว่าเรามักเก็บเรื่องร้ายๆมาคิดเชื่อมโยงต่อเนื่องได้ยาวนานกว่าสิ่งดีๆที่เกิดขึ้นเสมอ
ในแง่หนึ่งเรามักจดจำเรื่องร้ายๆมาเป็นบทเรียนให้กับตัวเองเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดเดิมๆขึ้นอีก ในอีกแง่หนึ่งเป็นเรื่องสภาพจิตใจที่มีความกลัวและวิตกกังวลต่อเรื่องที่ทำให้เกิดความไม่สบายใจในอดีต อาทิ เคยทำสิ่งที่ผิดพลาด เคยบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ เคยผิดหวังในความรักหรือในหน้าที่การงาน รวมทั้งการเติบโตในสภาพแวดล้อมที่ถูกกำหนดควบคุมโดยผู้ปกครองอย่างเข้มงวด ทำให้เกิดความรู้สึกไม่แน่นอนหรือไม่แน่ใจกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับตัวเองในอนาคต กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เรื่องไม่ดีในอดีตมีผลต่อการกำหนดปัจจุบันและอนาคตในความคิดของคนที่ตกอยู่ในภาวะคิดมากนั่นเอง
ปัญหาสำคัญของคนที่ตกอยู่ในภาวะคิดมากคือ การปล่อยให้ตัวเองครุ่นคิดทบทวนอยู่กับเรื่องเดิมๆที่ดึงขึ้นมาจากความทรงจำบนความรู้สึกเสียดาย ผิดหวัง เสียใจ มีความโกรธแค้นกับสิ่งที่ผ่านไปแล้ว หรือเป็นกังวลเกี่ยวกับผลพวงของสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาอยู่เสมอ ตกอยู่ในภวังค์ที่เป็นโลกใบเดิมใบเดียวของตัวเองที่พูดให้ใครฟังก็ไม่มีวันเข้าใจ ได้แต่คิดวนเวียนอยู่อย่างนั้นโดยไม่ได้พยายามคิดหรือแสวงหาวิธีการควบคุมหรือแก้ไขปัญหาที่จะช่วยให้ตัวเองคลายความทุกข์และความกังวลใจลงไปได้
ผลที่ตามมาคือ สภาพจิตใจที่อ่อนล้าและเต็มไปด้วยความกลัว ความเศร้าเสียใจ ขาดความมั่นคงในจิตใจ รู้สึกโดดเดี่ยวที่ต้องต่อสู้กับความคิดร้ายๆเพียงลำพัง เมื่อเป็นติดต่อกันเป็นเวลายาวนานจึงเป็นสาเหตุสำคัญของโรคทางจิตเวชที่เรียกว่า โรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder หรือ GAD) ซึ่งมีความเครียดและความวิตกกังวลที่รุนแรงมากกว่าปกติ ไม่สามารถควบคุมตัวเองไม่ให้คิดฟุ้งซ่านหรือกลัวว่าอาจจะเกิดเรื่องที่ไม่ดีขึ้นจนส่งผลต่อการดำเนินชีวิตและการทำงานได้ตามปกติ เนื่องจากขาดสมาธิ มีความหวาดระแวงและตื่นตกใจง่ายมีปัญหาเรื่องความอยากอาหารหรือการนอนหลับ ทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย ระบบภูมิต้านทานอ่อนแอลง ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคร้ายแรงอื่นๆตามมา
แม้เรื่องความคิดจะเป็นสิ่งที่ห้ามหรือบังคับให้เปลี่ยนแปลงในทันทีได้ยาก แต่ก็ไม่อยู่เหนือความพยายามหากมีความตั้งใจที่จะปรับเปลี่ยนมุมมองความคิดหรือแก้ไขพฤติกรรมบางอย่างให้เกิดเป็นผลดีกับตัวเอง ดังนั้น หากใครกำลังทนทุกข์อยู่กับการคิดมากอาจหาทางออกได้โดยลองทำตามแนวทางดังต่อไปนี้
1.หมั่นตรวจสอบความคิด – การเป็นคนคิดมากไม่ได้หมายความถึงการคิดอะไรเรื่อยเปื่อยโดยไม่รู้ตัว ตรงกันข้ามโดยมากรู้ตัวว่ากำลังคิดเรื่องอะไรอยู่ เพียงแต่ไม่สามารถควบคุมหรือปลดปล่อยตัวเองให้ออกจากพันธการความคิดในเรื่องนั้นได้ การตระหนักว่าตัวเองกำลังคิดถึงสิ่งใดเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะทำให้เราสามารถค้นหาและตรวจสอบความคิดเพื่อชี้ชัดถึงที่มาที่ไปและแสวงหาทางออกอย่างเป็นรูปธรรม
2.มุ่งตรงสู่ปัญหา – จุดอ่อนสำคัญของคนคิดมากคือ เอาแต่คิดถึงปัญหาแต่ไม่คิดถึงวิธีแก้ปัญหา การหยุดอยู่ที่ความคิดใดความคิดหนึ่งไม่เกิดประโยชน์มากเท่ากับการเปลี่ยนเป็นแรงผลักดันให้ลงมือแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง แม้ว่าเราจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเรื่องในอดีตได้แต่เราทำสิ่งที่ดีกว่าได้ในปัจจุบันความพร้อมที่จะเผชิญหน้าและตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาจะช่วยให้เราออกจากความกลัวและความกังวลใจได้
3.ยอมรับความเป็นไป – การมองโลกในแง่ดีเป็นพื้นฐานของการมีสุขภาพกายและใจที่แข็งแรง ความตั้งใจแก้ไขปัญหาถือเป็นสิ่งดี ขณะที่การยอมรับความเป็นไปทั้งก่อนและหลังจากความพยายามในการแก้ไขสิ่งต่างๆนั้นเท่ากับเป็นการเคารพและยอมรับนับถือในตัวเอง เมื่อเราทำสิ่งที่ทำได้อย่างเต็มที่แล้วไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรก็ไม่มีอะไรให้ต้องเสียใจหรือติดอยู่ในใจจนต้องเก็บมาคิดมากอีกต่อไป
4.บริหารสมองอยู่เสมอ – การยอมรับความเป็นไปและมุ่งแก้ไขปัญหานั้นอาจฟังดูง่ายแต่นับเป็นเรื่องที่ทำได้ยากลำบากสำหรับหลายคน ตัวช่วยที่ดีคือ การบริหารสมองด้วยการท้าทายความคิดและฝึกฝนการใช้ความจำ ทำได้โดยการค้นหาความสนใจไปยังเรื่องใหม่ๆ ให้เวลากับการคิดและลงมือทำสิ่งใหม่ๆเสมอตลอดจนหาเวลาในการเดินทาง ทำกิจกรรมและพบปะผู้คนเพื่อสร้างการจดจำในสิ่งที่ดีเข้ามาแทนที่
5.พึ่งพาเพื่อนที่รู้ใจ – บ่อยครั้งที่การต่อสู้กับความคิดตัวเองเพียงลำพังมีแนวโน้มที่จะไม่สำเร็จ การอาศัยเพื่อนที่รู้ใจสามารถช่วยแบ่งเบาความอึดอัดคับข้องใจที่เก็บไว้ในสมองได้ไม่มากก็น้อย เพื่อนที่รู้ใจในที่นี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะคนในครอบครัวหรือเพื่อนสนิทเท่านั้น หากแต่หมายรวมถึงสัตว์เลี้ยงที่รัก หรือสมุดบันทึกคู่ใจ ที่จะช่วยรับฟังเรื่องราวที่ไม่สบายใจและคอยเป็นกำลังใจให้กับเราได้เพียงแค่หันไปมอง
การเป็นคนคิดมากแม้จะไม่ใช่เรื่องแปลกที่ใครๆก็เป็นกันได้ แต่ก็ไม่ควรละเลยจนทำให้เกิดผลกระทบต่อทั้งสุขภาพกายและใจการหาทางออกจำเป็นต้องอาศัยทั้งเวลา ความตั้งใจและความอดทน ตลอดจนความเข้าใจจากคนใกล้ชิด สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เราห่างไกลจากการเป็นคนคิดมากคือ การยอมรับนับถือตัวเองด้วยการมีความสุขและพอใจในสิ่งที่ตัวเองเป็นเสมอ


กำลังโหลดความคิดเห็น