xs
xsm
sm
md
lg

อัปเดตนวัตกรรมพิชิต “มะเร็งตับ” อันดับ 1 คร่าชีวิตชายไทย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เผยสถานการณ์มะเร็งตับ อันดับ 1 คร่าชีวิตชายไทย แพทย์ระบุ 5 ปัจจัยพฤติกรรมเสี่ยง ไวรัสตับอับเสบชนิดบี หรือไวรัสตับอักเสบชนิดซี ดื่มแอลกอฮอล์ ความอ้วน กินอาหารที่มีเชื้อรา สุกๆ ดิบๆ และพันธุกรรม ชี้ รักษาด้วยวิธี “ภูมิคุ้มกันบำบัด” แนวทางใหม่ปลดล็อคควบคุมโรคมะเร็ง ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น แนะป้องกัน เลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง ตรวจร่างกายเป็นประจำ ย้ำตรวจเจอมะเร็งตับระยะแรกรักษาได้

พญ.พจนา จิตตวัฒนรัตน์ อายุรแพทย์ด้านมะเร็งและโลหิตวิทยา กล่าวว่า สถิติโรคมะเร็งตับ ถือเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในเพศชาย และเป็นอันดับ 1 ที่ทำให้เสียชีวิต ขณะที่เพศหญิงพบเป็นอันดับ 3 ซึ่งอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งตับประมาณ 15,000 คนต่อปี แต่ละปีมีผู้ป่วยมะเร็งตับรายใหม่ ประมาณ 20,000 คน โดยโรคมะเร็งตับที่พบมากในประเทศไทยมี 2 ชนิด คือ โรคมะเร็งเนื้อตับ และ โรคมะเร็งท่อน้ำดีตับ ส่วนแนวโน้มการเกิดโรคมะเร็งตับนั้นลดลงจากในอดีต เนื่องจากเด็กเกิดใหม่จะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบชนิดบี ทำให้อัตราการเกิดโรคมะเร็งตับน้อยลง

ทั้งนี้ โรคมะเร็งตับส่วนใหญ่จะเกิดในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 40-50 ปี ขึ้นไป แต่ในคนที่อายุน้อย เช่น อายุ 20- 30 กว่าๆ ก็สามารถเป็นโรคมะเร็งได้ โดยสาเหตุโรคมะเร็งตับ 2 ชนิด มีความแตกต่างกัน ดังนี้ โรคมะเร็งเนื้อตับ เกิดจากไวรัสตับอักเสบชนิดบี ไวรัสตับอักเสบชนิดซี และประวัติการดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนมะเร็งท่อน้ำดีตับ เกิดจากการทานสารที่ก่อมะเร็ง อย่าง เชื้อราอะฟลาทอกซิน ซึ่งจะอยู่ในพวกถั่ว, ไนโตรซามีนหรือสารสร้างเนื้อแดง รวมถึงเป็นพยาธิใบไม้ในตับ การกินอาหารดิบ เป็นต้น

พญ.พจนา กล่าวต่อว่า อาการโรคมะเร็งตับ เบื้องต้นจะรู้สึกเบื่ออาหาร น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ ไม่มีแรง อ่อนเพลีย บางคนมีลักษณะไม่อยากทำอะไร นอนมากผิดปกติ หรือถ้ามีอาการที่แสดงออกชัดเจน คือ ตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องโต กินไม่ได้ และน้ำหนักลด มีอาการผิดปกติแตกต่างไปจากเดิม ควรไปพบแพทย์ทันที เพราะอาการเหล่านี้ล้วนบ่งบอกถึงอาการจากโรคมะเร็งตับ ไม่ควรมองข้าม อาการใดๆ ถ้าผิดปกติจากเดิม เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม

“5 พฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งตับ ได้แก่ 1. กลุ่มคนที่เป็นไวรัสตับอักเสบชนิดบี ไวรัสตับอักเสบชนิดซี 2. พฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ 3. ความอ้วน เนื่องจากไขมันเกาะตับ ซึ่งมีความเสี่ยงตับแข็งและเป็นมะเร็งตับได้ โดยความอ้วนเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งทุกชนิด รวมถึงคนที่เป็นโรคเบาหวาน มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งสูงถึง 2 เท่า 4. เกิดจากการรับประทานทานสารที่ก่อมะเร็ง อย่าง เชื้อราอะฟลาทอกซิน ซึ่งจะอยู่ในพวกถั่ว, ไนโตรซามีน หรือสารสร้างเนื้อแดง รวมถึงเป็นพยาธิใบไม้ในตับ การกินอาหารดิบ เป็นต้น และ 5. โรคทางพันธุกรรม เกิดจากร่างกายขาดเอนไซม์ที่มีธาตุเหล็กในตับเยอะ ทำให้มีความเสี่ยงเป็นตับแข็งและโรคมะเร็งตับได้” พญ.พจนา กล่าว

พญ.พจนา กล่าวอีกว่า การรักษาโรคมะเร็งตับ เป็นไปตามลักษณะอาการของผู้ป่วยแต่ละคน โดยเริ่มแรกจะดูประวัติ ตรวจร่างกายของผู้ป่วย แต่ถ้าลักษณะตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องบวม ก็จะมีการเจาะเลือดดูค่าตับว่าผิดปกติหรือไม่ มีการตรวจอัลตราซาวนด์ เอกซเรย์ช่องท้อง และถ้าเห็นว่ามีก้อนผิดปกติจะมีการตรวจค่ามะเร็งในเลือด ซึ่งกรณีที่ค่ามะเร็งในเลือดสูง หรือมีไวรัสตับอักเสบชนิดบีสูง จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็ง ส่วนถ้าค่ามะเร็งในเลือดไม่สูงแต่มีก้อนเนื้อ ต้องเจาะชิ้นเนื้อเพื่อนำมาวินิจฉัยต่อไป แนวทางการป้องกันและรักษาโรคมะเร็งตับ ปัจจุบันถ้ามีการตรวจพบมะเร็งตับระยะแรกเริ่ม จะสามารถผ่าตัดตับ เปลี่ยนตับได้ทันที แต่ถ้าไม่สามารถผ่าตัดหรือเปลี่ยนตับ และเป็นระยะสุดท้ายจะใช้วิธีการรักษาอื่นๆ เช่น การจี้ไฟฟ้า จี้ไมโครเวฟ จี้ร้อน อุดเส้นเลือด เพื่อให้ก้อนมะเร็งฝ่อ แต่ถ้าเป็นหลายจุดจะเป็นการรักษาด้วยยา เพื่อให้ออกฤทธิ์ทางร่างกาย

“โรคมะเร็งตับระยะสุดท้าย สามารถรักษาด้วยยาเพื่อควบคุมอาการ โดยตอนนี้มีการใช้ยาพุ่งเป้า และยาภูมิคุ้มกันบำบัด ซึ่งยาภูมิคุ้มกันบำบัด ถือเป็นรูปแบบการรักษาใหม่สุดของโรคมะเร็งตับ ที่ตัวยาจะเข้าไปทำหน้าที่ปลดล็อกภูมิคุ้มกันของร่างกายในการจัดการสิ่งแปลกปลอม หรือฆ่าเซลล์มะเร็ง ทำให้สามารถควบคุมมะเร็งตับในผู้ป่วย ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น ใช้ชีวิตได้ปกติมากขึ้น เช่น ผู้ป่วยอายุ 65 ปี เป็นไวรัสตับอักเสบบี และเป็นตับแข็งในระยะที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ จี้ไม่ได้ และไม่สามารถให้ยาพุ่งเป้าได้ จึงเลือกให้ยาภูมิคุ้มกันบำบัด ตอนแรกค่ามะเร็งในเลือดที่วัด ประมาณ 20,000 พอให้ยาโดสแรกเหลือ 3,000 และลงมาอีก เหลือ 2,000 และตอนนี้ให้ยาไป 6 ครั้ง โรคสงบและหยุดยาไป” พญ.พจนา กล่าว

สำหรับการใช้ยาภูมิคุ้มกันบำบัด เป็นการฉีดยาไปยังผู้ป่วย ไม่ใช่เป็นการรักษาทางเลือก แต่เป็นการรักษาตามปกติโดยเลือกคนไข้ที่เหมาะสม ผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งตับทั้ง 2 ชนิด จะใช้การรักษาแตกต่างกัน ดังนี้ ผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งเนื้อตับ จะใช้ยาภูมิต้านทานบำบัดเมื่อยาพุ่งเป้าไม่ได้ผล ถือเป็นการให้ยาลำดับที่ 2 และจะให้ยาทุกๆ 2 หรือ 3 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับชนิดของยา ส่วนมะเร็งท่อน้ำดี จะใช้ได้เฉพาะบางกรณีสำหรับบางคนที่เหมาะสมเท่านั้น ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์

พญ.พจนา กล่าวอีกว่า ใจความสำคัญของการรักษามะเร็งตับ ควรจะมีการตรวจพบให้เจอมะเร็งในระยะเริ่มต้น เพราะคงไม่มีใครอยากเป็นมะเร็ง แต่ถ้าเป็นแล้วมีการตรวจพบระยะเริ่มต้นสามารถรักษาได้ อย่างไรก็ตาม อยากให้ทุกคนลดพฤติกรรมเสี่ยงที่จะให้เกิดมะเร็งตับ เพราะการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นดีกว่าเป็นสิ่งสำคัญ เช่น ควบคุมน้ำหนักของตนเอง ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่าให้อ้วน และต้องมีการตรวจสุขภาพประจำปี ยิ่งคนที่เป็นไวรัสตับอักเสบชนิดบี หรือไวรัสตับอักเสบชนิดซี ยิ่งต้องตรวจสุขภาพ 6 เดือนครั้ง แต่ถ้าใครกังวลให้มาตรวจร่างกายและฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบชนิดบีและไวรัสตับอักเสบชนิดซี

รวมถึงอย่าไปหลงเชื่อการรักษาอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น การรับประทานกลุ่มยา หรือ วิตามินดีท็อกซ์ตับ หรือดื่มน้ำเอนไซม์ที่บอกว่าจะรักษาโรคมะเร็งตับได้ เพราะยังไม่มีงานวิจัยหรือการทดลองที่สามารถยืนยันได้ว่ากลุ่มยาและวิตามินดีท็อกซ์ตับ หรือน้ำเอนไซม์จะสามารถช่วยป้องกันหรือรักษาโรคมะเร็งตับได้ หรือการใช้ช้อนร่วมกับคนที่เป็นไวรัสตับอักเสบชนิดบีแล้วจะติดโรค ดังนั้น ขอให้อย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจเชื่อ ผู้ป่วยควรจะพิจารณาให้ดีก่อน




กำลังโหลดความคิดเห็น