"อนุทิน" เตรียมเปิดคลินิกกัญชาใน สธ. วันที่ 6 ม.ค.นี้ พบต้นกัญชาจริง และการเข้าตำรับยากัญชาให้ประชาชน กรมแผนไทยเผยแอปพลิเคชัน “Dr.Ganja in TTM” คนแห่ลงทะเบียนจองคิวล่วงหน้า แนะวิธีใช้งานเพิ่มความสะดวกรับบริการ ลดแออัดในสถานพยาบาล
วันนี้ (3 ม.ค.) ภก.ปรีชา หนูทิม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน กล่าวว่า ในวันที่ 6 ม.ค. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข จะเป็นประธานพิธีเปิด คลินิกกัญชา ที่โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เพื่อรองรับผู้ป่วยที่มาใช้บริการหลายโรค อาทิ โรคนอนไม่หลับ โรคปวดหัวไมเกรน โรคกล้ามเนื้อ และโรคพาร์กินสัน ซึ่งในครั้งนี้เป็นการเปิดจุดบริการคลินิกกัญชา ภายในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยจะมีการจัดนิทรรศการเกี่ยวข้องกับกัญชา เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ถึงการปลูก การเข้าตำรับยา โดยจะนำต้นกัญชา จริง มา สาธิต แนะนำให้ประชาชนได้เห็นต่อสาธารณะ เป็นครั้งแรก ในตำรับน้ำมันสนั่นไตรภพ ตำรับศุขไสยาศน์ ตำรับทำลายเขาพระสุเมรุ ว่ามีวิธีการเข้าตำรับยาแบบใด ซึ่งหาดูได้ยาก
"ผู้ป่วยที่เข้ามาใช้บริการที่คลินิกกัญชา จะได้ใบรับรองแพทย์ ซึ่งได้รองรับให้คนไข้สามารถครอบครองกัญชาเพื่อการแพทย์ได้อย่างถูกกฎหมาย โดยจะมีระยะเวลาที่กำหนดในการรักษาของผู้ป่วยแต่ละคน ดังนั้นจะไม่ถูกตำรวจจับอย่างแน่นอน คลินิกกัญชา มีความพร้อมให้บริการทั้งบุคลากรแพทย์แผนไทย และแพทย์แผนปัจจุบัน อาคาร สถานที่ ในการให้บริการประชาชน ที่จะเข้ามาใช้บริการอย่างเต็มที่" ภก.ปรีชา กล่าว
ด้านนายเจตสิก โพธิ์พันธุ์ หัวหน้าศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวถึง การพัฒนาแอปพลิเคชัน "กัญชาทางการแพทย์แผนไทย" (Dr.Ganja in TTM) ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่ให้บริการกัญชาการแพทย์แผนไทย ที่สามารถจองคิวนัดหมายล่วงหน้า สืบค้นข้อมูลผู้มีสิทธิ์สั่งใช้กัญชาทั่วประเทศ พร้อมปักหมุด แผนที่ตั้งให้เดินทางไปใช้บริการในพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงสามารถเปิดโลเคชัน ผู้ผลิตกัญชาทางการแพทย์ ในประเทศไทยในพื้นที่ต่างๆ ได้ ซึ่งล่าสุด ข้อมูล ณ วันที่ 3 มกราคม 2563 มียอดจองนัดรับบริการคลินิกกัญชา วันนี้ 1,160 คน
สำหรับขั้นตอนการใช้แอปพลิเคชั่นประชาชนสามารถดาวน์โหลด โดยพิมพ์ภาษาไทย “ กัญชาการแพทย์แผนไทย” ส่วนภาษาอังกฤษพิมพ์ “Dr.Ganja in TTM” และกรอกข้อมูลลงทะเบียน โดยวิธีการง่ายๆ 1. กรอกข้อมูล ชื่อ ที่อยู่ อาการแพ้ยา โรคประจำตัว ข้อมูลติดต่อ ฯลฯ 2. เลือกวัน-เวลา ที่เข้ารับบริการ 3.ผู้ป่วยแสดง QR Code ที่จุดรับบริการ เพื่อเป็นการเช็คอินการเข้าใช้บริการ โดยไม่ต้องกรอกข้อมูล ทั้งนี้ การลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันดังกล่าว ถือเป็นการการคัดกรองผู้ป่วยในเบื้องต้นว่า สามารถรักษากัญชาทางการแพทย์ได้หรือไม่ ผู้ป่วยมีประวัติการแพ้ยา โรคประจำตัวใดบ้าง และเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับประชาชนในการเข้าใช้บริการประชาชน ลดความแออัดในสถานพยาบาลได้