"ภญ.จิราพร-หมอธีระวัฒน์" นำทีมยื่น 5.7 หมื่นรายชื่อบุคลากรทางการแพทย์ ถึง "อนุทิน" หนุนแบนสารเคมี ด้าน รมว.สธ.ชี้เสียงของบุคลากรและปชช.มีน้ำหนักมากกว่านักการเมือง เร่งส่งมอบต่อถึง "บิ๊กตู่" พร้อมแจง กมธ.สาธารณสุขย้ำจุดยืนเดิมขอแบนสารพิษตามเดิม ลั่นไม่เจรจา "สุริยะ" ทบทวนมติ บอกไม่อยากกดดัน เพราะเคาะในรูป คกก.
วันนี้ (26 ธ.ค.) รศ.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม และอดีตกรรมการวัตถุอันตราย พร้อมด้วย ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย น.ส.รสนา โตสิตระกูล กรรมการมูลนิธิสุขภาพไทย และ พ.ต.ท.ฐิชาลักษณ์ ณรงค์วิทย์ อุปนายกสมาคมพิทักษ์สิทธิข้าราชการ และที่ปรึกษาสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย เดินทางมายื่นหนังสือและรายชื่อแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล และประชาชนราว 5.7 หมื่นรายชื่อ ที่ร่วมสนับสนุนให้มีการยกเลิกสารเคมีในภาคเกษตร 3 ชนิด คือ พาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพรีฟอส ต่อนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อขอให้ส่งมอบต่อไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณา
ทั้งนี้ นายอนุทิน ได้หันไปสั่งการผู้บริหาร สธ.ที่เกี่ยวข้องให้เร่งทำเรื่องส่งมอบให้นายกฯ โดยเร็ว และระบุกับผู้ที่มายื่นว่า เสียงของตนอาจถูกตีความว่ามีอะไรหรือไม่ มีประเด็นทางการเมืองหรือไม่ แต่เสียงของบุคลากรการแพทย์ พยาบาล เภสัชกรและประชาชนน่าจะเป็นเสียงที่ดังที่สุด และมีน้ำหนักมากกว่านักการเมืองคนหนึ่ง ซึ่งตนไม่มีอิทธิพลเหนือบุคคลเหล่านี้ ยืนยันว่าการตัดสินใจของตนมาจากการรับฟังข้อมูลอย่างรอบด้าน แม้ว่าคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะมีมติออกมาอย่างไรก็ตาม สธ.จะเดินหน้าให้ความรู้เรื่องอันตรายจากสารเคมีเหล่านี้ให้มากที่สุด ผู้แทนกระทรวงที่ไปนั่งเป็นกรรมการได้ยืนยันมาตลอดว่า ให้มีการยกเลิกการใช้สารเคมีเหล่านี้ เพราะหน้าที่ของ สธ. สุขภาพประชาชนต้องมาก่อนรายได้ จะมีประโยชน์อะไรถ้ามีรายได้ดี แต่คนในครอบครัวเจ็บป่วย สุขภาพแย่ ดังนั้นพี่น้องประชาชนต้องเลือกว่าจะเชื่อข้อมูลไหน จะเลือกบริโภคอาหารอย่างไร เราต่างคนต่างทำหน้าที่
นายอนุทิน ให้สัมภาษณ์ว่า วันที่ 26 ธ.ค. กรรมาธิการ (กมธ.) ด้านสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร ได้เชิญตน ปลัด สธ. อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในฐานะที่เป็นกรรมการวัตถุอันตรายไปชี้แจงเหตุผลที่ไม่เห็นชอบกับการใช้สารเคมี 3 ชนิด แม้ว่าจะเป็นเสียงข้างน้อย แต่เราก็ต้องไปอธิบายให้เห็นเจตนารมณ์ โดยจุดยืนของตนและ สธ.คือ “แรงไม่ยอมเปลี่ยนปลั๊ก รักไม่ยอมเปลี่ยนแปลง” อย่างไรก็ตาม เมื่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายเดินหน้าให้ใช้สารเหล่านี้ต่อ เราก็ต้องทำความเข้าใจและให้ความรู้ ให้ข้อมูลด้านสุขภาพที่แม่นยำกับประชาชนให้มากที่สุด เพราะสุดท้ายอยู่ที่ประชาชนจะตัดสินใจเลือกกินอะไรให้เกิดความปลอดภัยกับตัวเอง
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการพูดคุยกับนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เพื่อขอให้มีการทบทวนมติเรื่องนี้หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ไม่ได้คุยกัน ต่างคนต่างมีเหตุผล เรื่องนี้เป็นการพิจารณาในรูปแบบคณะกรรมการ ถ้าคุยกับนายสุริยะ จะกลายเป็นการกดดันท่าน อย่างไรก็ตาม จริงๆ แล้ว ต้องทำความเข้าใจว่าเขาไม่ได้บอกว่าให้ใช้ อย่างพาราควอต และคลอร์ไพริฟอสนั้นถูกยกเลิกการใช้ไปแล้ว เพียงแต่เขาขอเวลา 6 เดือนในการกำจัดให้สิ้นซาก ส่วนสารไกลโฟเซตขอให้มีการจำกัดการใช้ ดังนั้นโดยหลักแล้ว เขารู้อยู่แล้วว่ามันไม่มีประโยชน์
“ภาระของกระทรวงไม่ว่าต้นทาง ปลายทางเป็นอย่างไร เจ็บป่วยมาเราก็ต้องรักษาอยู่แล้ว ระบบหลักประกันสุขภาพครอบคลุมอยู่แล้ว เพียงแต่แทนที่จะเอาเงิน เอาบุคลากร เอาทรัพย์สิน ค่ายา ค่าแพทย์แทนที่จะเอาไปทำเรื่องอื่นที่อาจจะป้องกันไม่ได้ แต่เรื่องสารพิษป้องกันได้ กลับต้องมาเสียเวลากับเรื่องพวกนี้ กระทรวงสาธารณสุขก็ต้องรับภาระไป เพราะเมื่อเราสู้ไม่ชนะ ภาษีของประชาชนก็ต้องถูกนำมาใช้ในเรื่องการรักษาพยาบาลในสิ่งที่เราได้เตือนแล้ว” นายอนุทิน กล่าว