สารภาพว่าเมื่อถึงเวลาต้องเขียนต้นฉบับ แต่ตัวเองมีปัญหาเรื่องดวงตาทำให้ต้องไปขยายม่านตา และทำให้ตาสู้แสงไม่ได้ และรู้สึกเคืองตา นั่นหมายความว่าไม่สามารถเขียนต้นฉบับผ่านโน้ตบุ๊คได้ในเวลานั้น จึงลองถามเจ้าคนโต “สรวง สิทธิสมาน” ณ เซี่ยงไฮ้ ว่าจะเขียนแทนแม่ได้ไหม เขาตอบอย่างไม่ลังเลว่าได้ครับ จึงกลายมาเป็นบทความเรื่องเกี่ยวกับความเหงาชิ้นนี้
และเมื่ออ่านบทความของเขาแล้วก็ทำให้นึกถึงตัวเองเหมือนกันว่าเคยเหงาครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่? ชีวิตที่เผชิญทุกวันนี้แทบไม่มีเวลาเหงาเลย ทั้งที่บางทีก็อยากเหงาบ้าง เพราะส่วนตัวคิดและเชื่อเสมอว่า “ความเหงาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต” และ “ความเหงาก็เป็นรากฐานของความเข้มแข็งของชีวิต” ด้วย
…………………
เข้าสู่ช่วงปลายปี ความงดงามแสนเศร้าของฤดูหนาววนกลับมาให้เห็นอีกครั้ง ต้นคริสต์มาสและซานต้าคลอสได้รับการวางไว้แทบทุกหนแห่ง ประดับไปด้วยกล่องของขวัญและแสงไฟสีเหลืองอ่อน ๆ ช่างให้ความรู้สึกที่อบอุ่น เป็นสัญญาณให้เราเตรียมตัวต้อนรับเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ร่วมกับคนพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน คนรัก หรือครอบครัว
แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะรู้สึกตื่นเต้น เพราะอีกด้านหนึ่งยังมีบางคนที่รู้สึกเหงา !
ความเหงาเป็นความรู้สึกที่อธิบายยาก และในบางครั้งก็ส่งผลต่อสุขภาพจิต หลายคนรู้ว่าตัวเองเหงา แต่น้อยคนนักที่จะเข้าใจความเหงา
ความเหงาคืออารมณ์หนึ่งของมนุษย์ เป็นภาวะในจิตใจที่รู้สึกโล่ง ว่างเปล่า ไม่มั่นคง ไม่สมบูรณ์ หรือเป็นความรู้สึกว่ามีบางส่วนขาดหายไปจากชีวิต เกิดเป็นช่องว่าง และไม่ได้ถูกเติมเต็ม โดยที่มาของอารมณ์ความเหงาของแต่ละคนก็แตกต่างกันไป
เด็กบางคนอาจเหงาเพราะไม่มีเพื่อนเล่นด้วย หรือบางคนอาจเหงา เพราะพ่อแม่ทำงานหนักจนไม่มีเวลาให้ พอโตขึ้นมาเป็นวัยรุ่นก็เริ่มมองหาความสัมพันธ์แบบรัก ๆ ใคร่ ๆ โดยเชื่อว่าการมีใครสักคนอยู่เคียงข้างจะช่วยบรรเทาอาการเหงา แต่เมื่อไม่สมหวังในความรัก ความเหงาก็ดูเหมือนจะยิ่งทวีคูณยิ่งขึ้นไปกว่าเก่าหลายเท่า
เราเกิดมาพร้อมกับความเหงา และใช้เวลาทั้งชีวิตวิ่งหนีจากความเหงา !
สังเกตได้ว่าเมื่อพูดถึงความเหงา คนทั่วไปก็จะโยงความเหงาไปเชื่อมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ และความคาดหวังที่จะได้รับความสัมพันธ์นั้นจากผู้อื่นที่เราคิดว่าจะมาเติมเต็มความรู้สึกของเราได้ ทั้งที่จริงแล้วตัวเราเองคือคนที่เติมเต็มตัวเราเองได้ดีที่สุด
อย่างไรก็ดี ความเหงานั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนหรือปริมาณคนที่อยู่ด้วย บางครั้งคนที่มีเพื่อนเยอะที่สุดในรุ่น หรือคนที่เปลี่ยนสาวทุกวันไม่ซ้ำหน้าก็ยังรู้สึกเหงา เรื่องนี้ยืนยันได้เพราะคนใกล้ตัวผมบางคนก็เป็นเช่นนั้น
ในทางกลับกัน คนที่มีเพื่อนน้อยมาแต่ไหนแต่ไรอย่างผม กลับแทบจะไม่รู้สึกเหงาสักนิด
....ไม่สิ...จะพูดว่าไม่เหงาสักนิดก็คงไม่ได้ แต่คงจะพูดได้ว่าสำหรับผมแล้ว ความเหงาไม่ใช่เรื่องแย่เลยสักนิด อาจฟังดูแปลก แต่ผมชอบอารมณ์ความรู้สึกตอนเหงาเสียด้วยซ้ำ เพราะมันซับซ้อนจนไม่เข้าใจ ทำให้ผมคิดอยู่เสมอว่าอารมณ์ความเหงานั้นเป็นพื้นที่หนึ่งในด้านของศิลปะ
ผมชอบอ่านงานเขียนของมูราคามิ ฟังเพลงของ Cigarattes After Sex และดูหนังของหว่องกาโว รวมถึงชอบเสพงานจิตกรรมของ Edvard Munch เรียกได้ว่าเป็นความเหงาแบบสุดโต่งในศิลปะแทบจะทุกแขนง
หากจะถามว่าทำไมผมถึงชอบความเหงา...
คงต้องตอบว่าความเหงาคือพื้นเพของตัวผม เพราะจนถึงตอนนี้ อายุ 21 ปี เกินกว่าครึ่งชีวิตของผมใช้ชีวิตอยู่นอกบ้าน ตั้งแต่ ป. 4 ผมเข้าไปอยู่ในโรงเรียนประจำคนเดียวก่อนที่ 1 ปีต่อจากนั้นน้องชายจะตามเข้ามา และ 3 ปีหลังจากนั้นผมต้องย้ายสถานที่อีกครั้งตอนขึ้น ม. 1 เมื่อต้องเปลี่ยนจากหอเด็กเล็กเป็นหอเด็กโตหรือที่ภาษาโรงเรียนเก่าผมเรียกว่า "เด็กใน" น้องชายตามเข้ามาเด็กในอีกปีให้หลัง หลังจากใช้ชีวิตในโรงเรียนประจำทั้งหมด 9 ปี พอจบ ผมตัวคนเดียวก็ได้มาเรียนต่อที่เมืองใหญ่อย่างเซี่ยงไฮ้ด้วยระยะเวลา 1 ปี ก่อนจะย้ายไปเรียนที่หนานจิงต่ออีก 1 ปี และกลับมาเซี่ยงไฮ้อีกครั้งโดยรอบนี้ต้องอยู่ที่นี่ทั้งหมด 4 ปีจึงจะจบการศึกษา
บางครั้งผมก็รู้สึกสับสนว่าที่ไหนกันแน่ที่เรียกว่าบ้าน แน่นอนว่าต้องเป็นที่ที่ครอบครัวอยู่พร้อมหน้าพร้อมตา แต่ผมก็มีความผูกพันกับทุกสถานที่ที่ผมผ่านเข้าไป และเดินออกมา ผมไม่แน่ใจว่าเซี่ยงไฮ้ก็เป็นบ้านของผมหรือไม่ โรงเรียนประจำที่ผมเคยอยู่ก็คล้ายว่าจะเป็นบ้านเหมือนกัน
แน่นอนว่าผมรู้จักความเหงามานาน และมันได้กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิต จนถือประหนึ่งว่าเป็นพรที่ได้รับมา เพราะมันทำให้ผมสามารถยืนบนลำแข้งตัวเอง พึ่งพาตัวเอง และเติมเต็มความรู้สึกด้วยตัวเอง...ซึ่งผมพบว่า...เป็นวิธีการจัดการกับความเหงาที่ได้ผลในระยะยาวกว่าการพึ่งพาผู้อื่นมาก
การรับมือกับความเหงา อย่างแรกเลยคือการรู้ว่าตัวเองเหงา หลังจากนั้นก็คอยสังเกตดูว่าสิ่งใดที่เราทำแล้วจะช่วยบรรเทาความเหงา บางคนอาจจะหาวิธีต่าง ๆ เพื่อเรียกร้องความสนใจ แต่ผมจะขอแนะนำวิธีของตัวเองนะครับ ฮ่า ฮ่า เวลาผมรู้สึกเหงา ถ้านั่งรถอยู่ผมจะเปิดเพลงเศร้าที่คิดว่าเศร้าที่สุดฟัง ถ้าอยู่ห้องก็จะเปิดหาหนังอารมณ์เหงา ๆ ดู ถ้าอยู่ห้างก็จะเข้าไปดูหนังในโรงหนังคนเดียว หรือถ้าเหงามากหน่อยก็จะเข้าร้านกาแฟอ่านหนังสือหรือไปชมนิทรรศการศิลปะคนเดียว
เป็นวิธีที่พาตัวเองดำดิ่งลงไปให้ถึงก้นบึ้งของความรู้สึกเหงาจนกว่าจะอยากออกมาด้วยตัวเอง
พูดง่าย ๆ คือเหงาให้สุดจนรู้สึกเบื่อที่จะเหงาต่อไปแล้วค่อยออกมา...
คิดเสียว่าจิตใจของเราคือศิลปิน และอารมณ์ความเหงาคือผลงานศิลปะชิ้นโบว์แดงที่จิตใจของเราสร้างสรรค์ขึ้นมาอย่างน่าทึ่ง...
เมื่อเราเผชิญกับความเหงา..ก็แค่...ดื่มด่ำ.....
นี่คือความคิดเห็นส่วนตัวของผมที่มีต่อความเหงาในชีวิต อาจฟังดูพิลึกอยู่บ้าง เพราะตัวผมเองขณะนี้ก็ยังรู้สึกพิลึกอยู่ไม่น้อย แต่มันก็คือสิ่งที่กลั่นกรองออกมาหลังจากการสำรวจจิตใจตัวเองอยู่ไม่ต่ำกว่า 4 ชั่วโมง หลังจากที่มีรุ่นน้องมาถามตอนเห็นว่าผมนั่งกินข้าวอยู่คนเดียวในโรงอาหารว่า "พี่สรวงนั่งกินข้าวคนเดียวไม่เหงาเหรอ"
ผมยิ้มให้น้อง แต่ไม่ได้ตอบอะไรไป
ก็แหม่...จะให้ตอบยังไงดีล่ะ..ฮ่า..ฮ่า.....
เอาเป็นว่า...บทความนี้คือคำตอบครับ