xs
xsm
sm
md
lg

ผลตรวจ 4 กลุ่มอาหาร เนย-เบเกอรี-ขนมปัง-ขบเคี้ยว "ไขมันทรานส์" ต่ำ ไม่เกินเกณฑ์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมวิทย์ เผยผลตรวจ 4 กลุ่มอาหารที่อาจใช้ "ไขมันทรานส์" ทั้งเนย เบเกอรี ขนมปัง ขนมขบเคี้ยว พบไขมันทรานส์ 0.03-0.07 กรัมต่อหนุ่งหน่วยบริโภค ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด 0.5 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค

วันนี้ (13 ธ.ค.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า หลังจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ 388 พ.ศ. 2561 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย โดยกำหนดให้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (ไขมันทรานส์) และอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบ เป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย และผลิตเพื่อการส่งออก บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค. 2562 กรมฯ ได้ศึกษาปริมาณไขมันทรานส์ในอาหารและผลิตภัณฑ์อาหารที่อาจมีการใช้ไขมันทรานส์ ซึ่งวางจำหน่ายในไทย 4 กลุ่ม คือ 1.ไขมันและผลิตภัณฑ์ (เนยเทียม เนยขาว และผลิตภัณฑ์) 2.เบเกอรี เช่น เวเฟอร์ คุกกี้ พายพัฟ และโดนัท 3.ขนมปังขาว และขนมปังโฮลวีต และ 4.ขนมขบเคี้ยว เช่น มันฝรั่งทอดกรอบ

นพ.โอภาส กล่าวว่า ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มไขมันและผลิตภัณฑ์ มีปริมาณไขมันทรานส์เฉลี่ย 0.07 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค (หนึ่งหน่วยบริโภคอ้างอิง ประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ หรือประมาณ 13.5 กรัม) กลุ่มเบเกอรีมีปริมาณไขมันทรานส์เฉลี่ย 0.05 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค (หนึ่งหน่วยบริโภคอ้างอิงสำหรับเวเฟอร์และคุกกี้ ประมาณ 30 กรัม และหนึ่งหน่วยบริโภคอ้างอิงสำหรับพายพัฟและโดนัท ประมาณ 55 กรัม) กลุ่มขนมปังขาวและขนมปังโฮลวีตมีปริมาณไขมันทรานส์เฉลี่ย 0.03 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค (หนึ่งหน่วยบริโภคอ้างอิง ประมาณ 50 กรัม) และกลุ่มขนมขบเคี้ยวมีปริมาณไขมันทรานส์เฉลี่ย 0.03 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค (หนึ่งหน่วยบริโภคอ้างอิง ประมาณ 30 กรัม) ผลการตรวจพบว่าปริมาณไขมันทรานส์เฉลี่ยใน 4 กลุ่มอาหารและผลิตภัณฑ์อยู่ในช่วง 0.03 - 0.07 กรัมต่อหนี่งหน่วยบริโภค ถือว่าต่ำกว่าคำแนะนำขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ที่กำหนดไว้มาก คือ ไม่เกิน 0.5 กรัมต่อหนี่งหน่วยบริโภค

"ไขมันเป็นสารอาหารที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย แต่การบริโภคไขมัน โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ในปริมาณมากอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด ดังนั้น เพื่อสุขภาพที่ดีจึงควรบริโภคไขมันในปริมาณน้อยตามความเหมาะสมของกลุ่มวัย อีกทั้งก่อนซื้อผลิตภัณฑ์อาหาร ผู้บริโภคควรอ่านฉลากเพื่อจะได้ทราบส่วนผสมของวัตถุดิบที่ใช้ผลิตและทราบปริมาณไขมันที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์นั้นๆ" นพ.โอภาส กล่าว






กำลังโหลดความคิดเห็น