กรมสุขภาพจิต แนะ 5 วิธี พ่อแม่สอนพื้นฐานลูกโตไปไม่คอร์รัปชัน สร้างความซื่อสัตย์สุจริต มีจิตสาธารณะ พิทักษ์ความยุติธรรม กระทำอย่างรับผิดชอบ และเป็นอยู่อย่างพอเพียง ย้ำพ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีด้วย
วันนี้ (9 ธ.ค.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า วันที่ 9 ธ.ค.ของทุกปี เป็นวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (International Anti-Corruption Day) การจะสร้างค่านิยทซื่อสัตย์สุจริต ป้องกันและปราบปรามทุจริตนั้น ควรเริ่มปลูกฝังจิตสำนึกตั้งแต่ยังเด็ก เพื่อเป็นรากฐานสำคัญที่จะทำให้เด็กและเยาวชนเติบโตขึ้นเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ พ่อแม่ควรเริ่มสอนให้เด็กรู้จักและเริ่มสร้างพื้นฐานความดี 5 ประการ ได้แก่ 1. ความซื่อสัตย์สุจริต (Honesty and Integrity) สอนให้เด็กเรียนรู้สิทธิของตนเองและผู้อื่น ไม่ละเมิดสิทธิในทรัพย์สินของผู้อื่น การหยิบยืมของไปใช้นั้นต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของก่อนเท่านั้น และไม่ต่อว่าเด็กอย่างรุนแรง เมื่อเด็กเล่าความจริง ให้คำชื่นชมที่เด็กยอมเปิดเผยความจริง แม้ว่าความผิดนั้นจะรุนแรงก็ตาม
2. การมีจิตสาธารณะ (Greater Good) โดยให้คำชื่นชมเด็ก เมื่อเด็กมีความรับผิดชอบ อาสา และเสียสละต่อเรื่องส่วนรวม ชี้ให้เห็นถึงคุณค่าในตัวเอง เมื่อเด็กมีเมตตากรุณา มีน้ำใจ และไม่เห็นแก่ตัว รวมทั้งพาเด็กและครอบครัวออกไปท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และเรียนรู้ถึงคุณค่าของธรรมชาติที่มีต่อชีวิตมนุษย์ 3. ความเป็นธรรมทางสังคม (Fairness and Justice) โดยรับฟังความคิดเห็นของเด็ก ไม่ด่วนตัดสิน เปิดใจรับฟัง สอนถึงความสำคัญในการเคารพและให้เกียรติผู้อื่น สร้างค่านิยมการพิทักษ์ความยุติธรรมและความถูกต้อง สร้างความภาคภูมิใจในตัวเองของเด็กที่ไม่นิ่งเฉยต่อสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และปกป้องผู้ที่อ่อนแอกว่าในสังคม
4. การกระทำอย่างรับผิดชอบ (Responsibility and Accountability) โดยฝึกเรื่องระเบียบวินัยตั้งแต่ยังเด็ก มีการทำตารางการใช้ชีวิตภายในบ้าน การจัดตารางเรียนเอง มอบหมายหน้าที่ภายในบ้าน ให้ฝึกรับผิดชอบตามระดับพัฒนาการ รวมถึงให้คำชื่นชมเมื่อสามารถทำหน้าที่ของตนเองได้ดี และให้คำชื่นชมเมื่อกล้ายอมรับผิดและยินดีแก้ไขในสิ่งที่ผิด การลงโทษของผู้ปกครองควรใช้วิธีการ ตัด งด ลด ของชอบ แทนการลงโทษด้วยวิธีที่รุนแรง 5. การเป็นอยู่อย่างพอเพียง (Sufficiency and Moderation) โดยการสอนลูกให้รู้จักบังคับตัวเองให้มีความพอประมาณ ไม่โลภ ไม่เบียดเบียนทั้งตัวเองและผู้อื่น ฝึกความอดทน อดกลั้นต่อความยากลำบาก เป็นตัวอย่างที่ดีในความไม่ฟุ่มเฟือย ใช้ของอย่างประหยัดและรู้คุณค่า รู้จักพอเพียง เน้นคุณค่าของความพยายามของลูกมากกว่าผลสำเร็จปลายทาง
"สุดท้ายการเป็นแบบอย่างที่ดีของพ่อแม่ผู้ปกครองจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ในการปลูกฝังจิตสำนึกและระบบคุณค่าความคิด ความเชื่อ ผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่เด็กมีส่วนร่วมและให้เด็กได้เป็นผู้ปฏิบัติเอง คิดเอง ทำเอง และขบคิดแก้ปัญหาเอง จะเป็นวิธีการที่เหมาะสมที่สุด" นพ.เกียรติภูมิกล่าว