xs
xsm
sm
md
lg

รพ.รามาฯ ทำธนาคารชีวภาพโรคมะเร็ง เก็บเนื้อเยื่อวิเคราะห์ดีเอ็นเอ หวังรักษาแม่นยำ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รพ.รามาธิบดีจับมือสถาบันมะเร็งฯ ทำธนาคารชีวภาพโรคมะเร็งครบวงจร เก็บเนื้อเยื่อมะเร็งผู้ป่วยที่ยินยอมทำการแช่แข็งอุณหภูมิ -80 องศา เพื่อศึกษาลักษณะดีเอ็นเอมะเร็งแต่ละชนิด การตอบสนองต่อยาต่างๆ หวังรักษาได้ตรงเป้า แม่นยำมากขึ้น เป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งคนไทยในอนาคต

วันนี้ (4 ธ.ค.) ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี  ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวลงนามความร่วมมือด้านธนาคารชีวภาพเพื่อโรคมะเร็งแบบครบวงจร 

ศ.นพ.ปิยะมิตร กล่าวว่า การพัฒนาการรักษาโรคมะเร็งให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ต้องมีการศึกษาเนื้อเยื่อมะเร็งแบบละเอียด เพื่อให้รู้ถึงสายพันธุกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปเวลาที่เกิดเป็นมะเร็ง และสายพันธุกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปในเซลล์มะเร็ง จะนำมาซึ่งการรักษาเฉพาะเจาะจงและได้ประสิทธิภาพสูงขึ้นกว่าเดิม ซึ่งตรงกับหลักคิดการแพทย์แม่นยำ เพราะคนเป็นมะเร็งเต้านม 10 คน อาจมีความแตกต่างในสายพันธุกรรม การศึกษาอย่างละเอียดทำให้สามารถรู้ว่ามะเร็งที่คนนั้นเป็นควรรักษาด้วยยาอะไร แบบไหน นำมาซึ่งการจัดตั้งธนาคารชีวภาพเพื่อโรคมะเร็งแบบครบวงจร โดยจะมีการเก็บรายละเอียดเนื้อเยื่อมะเร็งทั้งหมดแช่แข็งไว้ที่ -80 องศาเซลเซียส และเอาเซลล์ที่เก็บเอาไว้มาศึกษาสายพันธุกรรม มาศึกษาการตอบสนองต่อยา ทำให้การรักษามะเร็งผู้ป่วยรายนั้นมีความเฉพาะเจาะจงและเลือกวิธีการรักษาที่ดีที่สุด โดย รพ.รามาธิบดี มีการดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2555 สามารถเก็บตัวอย่างเลือดและเนื้อเยื่อมะเร็งได้กว่า 2,000 ตัวอย่าง โดยในจำนวนนี้เป็นกลุ่มมะเร็งเต้านมประมาณ ร้อยละ 15 มะเร็งลำไส้ประมาณ 10 มะเร็งปอด ร้อยละ 10 และที่เหลือเป็นมะเร็งชนิดอื่นๆ เรามีพื้นที่ที่สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ก็จะมีพื้นที่ขนาดใหญ่ในการเก็บเนื้อเยื่อ จึงร่วมกับสถาบันมะเร็งแห่งชาติในการดำเนินการเรื่องนี้ เพื่อทำให้ธนาคารชีวภาพเพื่อโรคมะเร็งครบวงจรเกิดการบูรณาการ ไปพร้อมกันทั้งการศึกษา การวิจัย และรักษาพยาบาลมีประสิทธิภาพสูงสุดกับประชาชนที่เจ็บป่วยจากมะเร็ง

ศ.นพ.ปิยะมิตร กล่าวว่า การลงนามในครั้งนี้ไม่ได้แปลว่าเราจะมีการแพทย์แม่นยำในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเลย แต่จะเกิดการดำเนินการให้เกิดฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ทำให้สามารถวิเคราะห์ได้ว่า มะเร็งชนิดต่างๆ ในคนไทยแตกต่างกับต่างประเทศอย่างไร เจอกลุ่มไหนเยอะน้อย ซึ่งประเทศไทยเองก็มีโรคมะเร็งหลายชนิดที่ไม่เหมือนกับต่างประเทศหรือซีกโลกตะวันตก อย่างมะเร็งศีรษะและลำคอ มะเร็งจอประสาทตา ทางบ้านเราก็เกิดขึ้นมากกว่า ซึ่งการที่มีข้อมูลออกมาจะทำให้เกิดการตีพิมพ์ลงในวารสารนานาชาติเป็นองค์ความรู้ใหม่ระดับโลกต่อไปได้ รวมถึงรู้ว่ามะเร็งชนิดนี้ ยีนแบบนี้ ดีเอ็นเอแบบนี้เหมาะสมการรักษาแบบไหนที่แคบลงกว่าเดิม

นพ.วีรวุฒิ กล่าวว่า แนวโน้มโรคมะเร็งในไทยเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง โดยเป็นสาเหตุการตายของคนไทยอันดับ 1 มาตั้งแต่ปี 2541 ปัจจุบันมีผู้ป่วยรายใหม่จำนวน 122,757 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิตไปราวๆ 73,000 คน อย่างไรก็ตาม ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ ทำให้สามารถตรวจ รักษาโรคมะเร็งได้อย่างแม่นยำขึ้น สามารถรักษาให้หาย และทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ และยืดอายุการเสียชีวิตลงได้ โรงพยาบาลต่างๆ ของ สธ.ที่รักษาโรคมะเร็งจึงตั้งเป้าเรื่องการแพทย์แม่นยำมากขึ้น และพยายามเต็มที่ที่จะพัฒนาในจุดนี้เพื่อให้ประชาชนในต่างจังหวัดมีโอกาสเข้าถึงการรักษาดังกล่าวมากขึ้นด้วย ดังนั้นตนจึงเชื่อว่าความร่วมมือนี้จะช่วยให้ครอบคลุมการรักษาแบบจำเพาะได้กับมะเร็งทุกชนิดในอนาคต

ผศ.ดร.พญ.ณฐินี จินาวัฒน์ ประธานหลักสูตรเวชศาสตร์ปริวรรต และหัวหน้าธนาคารชีวภาพสำหรับโรคมะเร็งแบบครบวงจร กล่าวว่า ในการเก็บเนื้อเยื่อมะเร็งนั้น จะเก็บได้ก็ต่อเมื่อมะเร็งมีขนาดใหญ่พอที่จะสามารถทำได้ แต่ยืนยันว่าก่อนจะมีการเก็บต้องแจ้งให้กับผู้ป่วยทราบว่าจะเก็บอะไร เอาไปทำอะไร และต้องได้รับการยินยอม ทั้งนี้จะยึดประโยชน์สูงสุดกับผู้ป่วยเป็นหลัก ไม่ให้มีผลกระทบกับการรักษา ขอยืนยันว่าไม่มีการเลี้ยงไข้เพื่อให้ขนาดมะเร็งโตพอที่เก็บเนื้อเยื่อได้เด็ดขาด ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาตามโปรแกรมการรักษาที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วย








กำลังโหลดความคิดเห็น