xs
xsm
sm
md
lg

“จิราพร” ซัด “สุริยะ” เอาความเห็นที่ประชุมไปแถลง ไม่ใช่มติบอร์ด ขอนัก กม.ตีความ เหตุไม่มีโหวตล้มมติเดิม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ภญ.จิราพร แจงเหตุการณ์ประชุมบอร์ดวัตถุอันตราย เป็นแค่การแสดงความเห็นของแต่ละฝ่าย ไม่มียกมือโหวตให้ยกเลิกมติแบนสารเคมีวันที่ 22 ต.ค. เชื่อมติเดิมยังมีผล จึงเป็นภาวะจำยอมจบการประชุม รับผิดหวัง สุริยะ ไปแถลงว่าเป็นมติเอกฉันท์ ทั้งที่ยันมาตลอดให้แบนสารเคมี ส่วนผลประชุมล่าสุดมีผลหรือไม่ ต้องให้นักกฎหมายตีความ

วันนี้ (29 พ.ย.) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน รศ.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม เดินทางมาร่วมประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน โดยภายหลังการประชุมได้มีบุคลากรจำนวนหนึ่งมอบดอกไม้เพื่อให้กำลังใจแก่ รศ.ภญ.จิราพร ที่เป็นตัวแทนภาควิชาการเข้าไปต่อสู้เรื่องของการแบนสารเคมีทางการเกษตรทั้ง 3 ชนิด คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ในคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา และได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งกรรมการวัตถุอันตราย เพราะรับไม่ได้กับการออกมาแถลงข่าวของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ว่าคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติเป็นเอกฉันท์ในการยืดเวลาแบนพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ออกไป 6 เดือน และให้จำกัดการใช้ไกลโฟเซตตามเดิม ทั้งที่ตนเองคัดค้านเต็มที่

รศ.ภญ.จิราพรกล่าวว่า อย่างที่ตนเองโพสต์ข้อความไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่ารู้สึกผิดหวังกับกระบวนการหรือวิธีการประชุมซึ่งค่อนข้างที่จะสับสน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระเบียบวาระ หรือการรับฟังความคิดเห็นของกรรมการ ซึ่งตนเองแสดงความเห็นคัดค้านทั้ง 3 สารเคมีว่า มีอันตราย และเห็นควรยืนยันมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2562 ที่ให้แบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิดมาตลอดการประชุม แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า สุดท้ายแล้วสิ่งที่ตนไปขอให้ฝ่ายเลขาฯ บันทึกไว้เรื่องคงมติวันที่ 22 ต.ค.กลับไม่ได้ปรากฏออกมา จึงรู้สึกผิดหวังและหดหู่ในการที่จะทำงานลักษณะนี้ จึงต้องแสดงจุดยืนในการที่จะขอลาออก เพราะคงลำบากในการที่ทำหน้าที่ต่อ จากกลไกคณะกรรมการระดับชาติในการกำหนดนโยบายที่ดีในการคุ้มครองสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมที่มีความสับสนเช่นนี้

รศ.ภญ.จิราพรกล่าวว่า การประชุมวันนั้นก็เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นของแต่ละฝ่าย ตนก็ยืนยันให้คงมติเดิม และก็มีหลายท่านที่ยังยืนยันให้มีการแบน ดังนั้น จึงไม่ใช่มติเอกฉันท์ตามที่แถลง แต่การแถลงเป็นเพียงความเห็นที่เกิดขึ้นในที่ประชุม อย่างเรื่องระยะเวลาก็เป็นเรื่องที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์นำเสนอว่าไม่สามารถที่จะทำได้ทัน ซึ่งจากลักษณะของการประชุม ที่ไม่ได้มีความชัดเจน จึงเกิดความสับสน และสุดท้ายเหมือนเป็นภาวะจำยอม

เมื่อถามว่าเป็นภาวะจำยอมอย่างไร รศ.ภญ.จิราพรกล่าวว่า วันนั้นไม่ได้มีการนับองค์ประชุม หรือลงมติที่ชัดเจนว่าจะให้มีการยกเลิกมติเมื่อวันที่ 22 ต.ค. ดังนั้น เมื่อไม่มีการโหวตเช่นนี้ ส่วนตัวจึงเชื่อว่ามติเดิมวันที่ 22 ต.ค.ที่ให้แบนสารเคมียังคงมีผล และการประชุมก็เป็นแค่แสดงความคิดเห็นและบันทึกลงในการประชุม ซึ่งคงต่อไปดูอีกทีว่า สรุปบันทึกการประชุมออกมาเป็นเช่นไร จึงเป็นภาวะจำยอมที่จบการประชุมไปแบบสับสนเช่นนั้น แต่ รมว.อุตสาหกรรมในฐานะประธาน กลับไปแถลงว่าเป็นมติเอกฉันท์ของที่ประชุม ไกลโฟเซตไม่มีอันตรายสุขภาพ ยืนยันว่าในที่ประชุมเรายืนยันไปแล้ว

ถามต่อว่า เช่นนี้การประชุมที่ผ่านมาจะมีผลทางกฎหมายหรือไม่ รศ.ภญ.จิราพรกล่าวว่า ตนไม่ทราบเพราะไม่ใช่ฝ่ายกฎหมาย คงต้องให้นักกฎหมายตีความและไปหารือว่าเป็นเช่นไร แต่ตนคงไม่ทำการยื่นขอให้มีการตีความเรื่องนี้หรือทำอะไรแล้ว เพราะลาออกมาแล้ว แต่คิดว่าคงมีนักกฎหมายดำเนินการต่อ เพราะนี่เป็นปัญหากับสุขภาพ ทุกภาคส่วนที่แข็งแรงในสังคมต้องออกมาช่วยกัน ตนคนเดียวคงทำอะไรได้ไม่มาก คงได้แต่ยืนยันในจุดยืนของตัวเองว่า สารเคมีเหล่านี้มีปัญหาต่อสุขภาพจริงๆ ทั้งพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ซึ่งมีข้อมูลยืนยันทางวิชาการและยังยึดตามมติให้มีการยกเลิกการใช้ตามมติวันที่ 22ต.ค.ที่ผ่านมา ส่วนวันนี้ที่พบกับนายอนุทินในการประชุม คสช.ท่านไม่ได้พูดอะไรมาก บอกเพียงท่านเข้าใจเรื่องนี้ดีซึ่งผู้แทนของกระทรวงก็ยืนยันเช่นเดียวกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า การแถลงว่าเป็นมติเอกฉันท์ ทั้งที่เราแสดงจุดยืนว่าควรยกเลิกการใช้แบบนี้ถือว่าเป็นการแอบอ้างเสียงของเราหรือไม่ และจะดำเนินการอย่างไรหรือไม่ รศ.ภญ.จิราพรกล่าวว่า การแอบอ้างเสียงหรือไม่นั้นแล้วแต่คนจะตีความ ส่วนตัวคงไม่ดำเนินการอะไร แต่เรียนว่าในการประชุมเรื่องสำคัญ การอภิปรายการให้ความเห็นนั่นก็คือจุดยืนของเราที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าให้มีการยกเลิกสารเคมี แต่กลับมีมติออกมาว่าเป็นเอกฉันท์จึงทำให้ตนรู้สึกหดหู่


















กำลังโหลดความคิดเห็น