xs
xsm
sm
md
lg

ทะเลาะกันแล้วอย่าโพสต์ประจานลงโซเชี่ยล/ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คุณเคยไหม ?

ทะเลาะกับสามี แล้วโพสต์ประชดลงโซเชี่ยล

ทะเลาะกับลูก แล้วโพสต์ประจานลงโซเชี่ยล

ทะเลาะกับแม่ แล้วโพสต์ประนามลงโซเชี่ยล

ฯลฯ

ไม่ว่าจะเป็นการระบายความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ ตำหนิ ต่อว่า ดุด่า ประชดประชัน หรือ ฯลฯ แต่สุดท้ายก็คือเมื่ออีกฝ่ายมาพบข้อความดังกล่าวแล้ว เกิดความรู้สึกไม่ดี โกรธ และอาจบานปลายกลายเป็นเรื่องเป็นราว

ความคิดที่ว่าพื้นที่บนโลกออนไลน์ที่ใช้ชื่อของตัวเองยังถูกมองว่าเป็นพื้นที่ส่วนตัว อยากจะทำอะไรก็ได้ ทั้งที่จริงแล้วบนโลกออนไลน์ไม่มีคำว่าพื้นที่ส่วนตัว

เพียงแต่ใครจะเลือกโพสต์อะไรก็เป็นเรื่องของคน ๆ นั้น

ยุคนี้โลกออนไลน์กลายเป็นพื้นที่ในการระบายอารมณ์ หรือความรู้สึก รวมไปถึงระบายความในใจ ประเภทชอบใครไม่ชอบใครก็ถูกนำไปโพสต์ต่าง ๆ นานาซึ่งบางโพสต์อาจนำไปสู่การใช้ภาษาสร้างความเกลียดชัง(Hate Speech) หรือนำไปสู่การรังแกกันบนโลกออนไลน์ (Cyber Bullying) อีกต่างหาก

แต่ประเด็นที่ดิฉันอยากชวนพูดถึง คือเรื่องการแสดงออก หรือการระบายอารมณ์กับคนในครอบครัว หรือคนที่เรารักในลักษณะการใช้ภาษาเชิงลบ ซึ่งมีให้เห็นจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

ประมาณว่าสามีภรรยาทะเลาะกัน ไม่พูดกัน แล้วฝ่ายหนึ่งไปโพสต์ต่อว่าลงออนไลน์โดยใช้ภาษาประชดประชัน เมื่ออีกฝ่ายหนึ่งไปเห็น ก็เกิดความไม่พอใจ จนทำให้จากเรื่องทะเลาะกันเรื่องหนึ่ง กลายเป็นว่านำไปสู่การทะเลาะเพิ่มอีกเรื่องหนึ่ง

หรือแม่ลูกทะเลาะกัน แล้วฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนำไปโพสต์ต่อว่าอีกฝ่ายหนึ่งในออนไลน์ ถ้าเป็นฝ่ายลูก ก็จะสร้างความไม่พอใจให้แม่ เพราะแม่จะรู้สึกเสียหน้า และโกรธที่ลูกทำแบบนี้

ถ้าเป็นฝ่ายแม่ที่โพสต์ต่อว่าลูก ลูกก็จะโกรธมากเช่นกัน เพราะเหมือนถูกประณาม เพื่อนลูกก็รับรู้ ก็ทำให้รู้สึกว่าแม่ไม่ไว้หน้า กลายเป็นว่าจากเรื่องเล็กๆ ที่สามารถจะเคลียร์ได้เมื่อพูดคุยกัน แต่เมื่อมีเรื่องการประจานกันออกสื่อก็เลยทำให้เกิดอาการเคือง โกรธ และไม่พูดกัน ประมาณว่าประเด็นบานปลายไปซะแล้ว
ยิ่งกรณีของเด็กวัยรุ่นก็อาจจะมากหน่อย เพราะเป็นเรื่องของช่วงวัยด้วย

มีตัวอย่างของเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งที่ทะเลากับแม่และโพสต์ผ่านสื่อออนไลน์ ระบายอารมณ์เกรี้ยวกราดด่าทอแม่อย่างเปิดเผยด้วยการโพสต์ลงเฟซบุ๊ค โดยบล็อกไม่ให้แม่เห็น แต่เพื่อนของแม่เห็น และนำไปบอกแม่ของเด็กคนนั้น จนกลายเป็นเรื่องเป็นราว ทะเลาะกันใหญ่โตในครอบครัว จนสุดท้ายผู้เป็นพ่อต้องไกล่เกลี่ยให้ลูกขอโทษแม่ และให้สัญญากันว่าเมื่อทะเลาะกัน จะใช้วิธีหันหน้ามาพูดคุยกัน ไม่โพสต์ผ่านทางสื่อออนไลน์อีกเด็ดขาด

เพราะเมื่อคนเราขาดสติ ขาดความยับยั้งชั่งใจ ก็จะขาดการวิเคราะห์ ไตร่ตรอง อาจทำให้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ในทันที

ฉะนั้น โปรดคิดสักนิดก่อนโพสต์เรื่องแย่ๆ ประเภทต่อว่าคนที่เรารักบทโลกออนไลน์ เพราะไม่ว่าจะเป็นเพราะอารมณ์ชั่ววูบ แต่วูบนั้นอาจนำพาให้ชีวิตของเราพังได้เช่นกัน

ข้อคิดก่อนโพสต์ถึงคนที่เรารักยามทะเลาะกัน

ข้อแรก - เมื่อทะเลาะกันอย่าใช้โซเชี่ยลมีเดีย
อาจทำข้อตกลงร่วมกันในยามปกติว่าเมื่อเกิดปัญหาทะเลาะกับคนที่เรารัก ให้พยายามหาทางทำให้อารมณ์สงบให้เร็วที่สุด พยายามเรียกสติและควบคุมตัวเองให้ได้ หรือหากิจกรรมอื่น ๆ เพื่อให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้นก่อน แต่ถ้าคุณเป็นคนที่ควบคุมตัวเองไม่ได้ดีนัก ก็ขอว่าอย่าเพิ่งใช้โซเชี่ยลมีเดีย เพราะอาจเก็บอารมณ์ไม่อยู่ ระบายความรู้สึกผ่านโลกออนไลน์ ซึ่งอาจทำให้คุณรู้สึกดีขึ้นที่ได้ระบายความรู้สึกในขณะนั้น แต่หารู้ไม่ว่า เมื่อผู้คนเข้ามาอ่านก็อาจกลายเป็นประเด็นขยาย และเมื่อคนที่เราพาดพิงถึงมาอ่าน เขาจะรู้สึกอย่างไร ลองคิดถึงใจเขาใจเราด้วย

พยายามสะกดกลั้นอารมณ์ ถ้าเป็นไปได้ก็ควรจะพยายามหาทางออกในการพูดคุยกัน และจะไม่เลือกที่จะโพสต์ระบายบนโลกออนไลน์ ถ้าอีกฝ่ายโกรธ ก็จะทำให้ปัญหาบานปลาย จากเรื่องหนึ่ง กลับกลายเป็นชนวนที่นำไปสู่การแตกหักหรือแยกทางกันก็มีให้เห็นมาแล้ว

ข้อสอง - โพสต์บนสื่อออนไลน์บ่งบอกตัวตนของเรา
Rubin Dunbar ศาสตราจารย์ภาคจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย Oxford ได้ศึกษาเรื่องเพื่อนในเฟซบุ๊ก 3,375 คน พบว่า ในจำนวนนี้มีเพื่อนเพียง 4.1% ได้รับการพิจารณาว่าเชื่อถือได้ และมีเพียง 13.6% ของเพื่อนทั้งหมดที่มีปฏิสัมพันธ์เกิดขึ้นจริง เช่น การแสดงความเห็นอกเห็นใจเมื่อต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้าย

และที่สำคัญอย่าลืมว่าคุณจะโพสต์เรื่องอะไร ก็เท่ากับบ่งบอกว่าคุณเป็นคนอย่างไรเช่นเดียวกัน แล้วเราจะแสดงออกด้วยการประจานตัวเองเพื่ออะไร โดยเฉพาะเรื่องทะเลาะเบาะแว้งภายในครอบครัวกับคนที่เรารัก ไม่จำเป็นต้องให้เพื่อนในโลกออนไลน์รับรู้ก็ได้ เพราะเรื่องที่ทะเลาะเบาะแว้งกันก็เป็นเรื่องของคนสองคนอยู่ดี

ข้อสาม -อยากได้รับความสนใจ
มีงานวิจัยทางจิตวิทยาจาก Union College of New York ที่ระบุว่า คนที่โพสต์บนโลกออนไลน์บ่อยมากเท่าไร ก็เพราะต้องการความสนใจจากเพื่อนและสาธารณะ และมักจะโหยหาความเป็นที่สนใจทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว ซึ่งจะรู้สึกดีเมื่อมีคนสนใจเวลาที่มีคนมากดไลค์กับเรื่องที่โพสต์ บางคนก็อาจคิดว่าถ้าเรานำเรื่องที่ทะเลาะมาโพสต์ลงออนไลน์ เพราะหวังจะได้รับความสนใจ หรือเห็นอกเห็นใจจากเพื่อนในโลกออนไลน์

ข้อสี่ - คิดสักนิดก่อนโพสต์
ทุกครั้งที่คิดจะโพสต์บนโลกออนไลน์ ต้องตระหนักด้วยว่าจะไปกระทบผู้อื่นหรือไม่ทุกครั้ง อย่าโพสต์โดยใช้อารมณ์ ความคึกคะนอง และความรู้สึกเป็นตัวตั้ง แต่ต้องคำนึงถึงสิ่งที่จะตามมาจากการโพสต์ข้อความด้วยว่าเราจะเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มปัญหาหรือไม่ หรือจะทำร้ายความรู้สึกของคนที่เรารักหรือไม่

อย่าลืมว่าสังคมยุคปัจจุบันเต็มไปด้วยความเสี่ยงสูงที่จะทำให้ผู้คนหงุดหงิดง่าย เจ้าอารมณ์ ขี้โมโห เพราะเป็นสังคมแห่งความเร่งรีบ สังคมแห่งเทคโนโลยีที่เป็นตัวปลุกเร้ากระตุ้นอารมณ์อยู่ตลอดเวลา

สิ่งที่ควรทำตอนที่อารมณ์กำลังคุกรุ่น หรือโกรธคือ อยู่เฉย ๆ อย่าเพิ่งทำอะไรจัดการอารมณ์ของตัวเองให้หายโกรธก่อนค่อยคิดอีกทีเชื่อเถอะว่าเวลาที่ผ่านไปช่วยได้จริง ๆรอให้ใจเย็นลงและหาวิธีที่แก้ปัญหาอย่างมีสติ

Brad Bushman จาก Ohio State University แนะนำว่าเมื่อโกรธอยู่ ทางที่ดีคือตอบโต้ช้าลงไม่ต้องทันทีทันใด ผ่อนคลาย เช่นไปนอน หรือ หาอย่างอื่นทำหรือคิดด้วยกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวเลยกับความรุนแรง

“แม้ความคิดที่ว่า หากไม่ระบายออกมา เราจะเป็นบ้าและระเบิดในวันใดวันหนึ่ง ฟังดูเป็นคอมมอนเซนส์มากๆ แต่การปล่อยให้ความโกรธอันร้อนระอุ ได้อุ่นลง และเย็นลงตามลำดับน่าจะดีกว่าระบายออกไป เพราะยิ่งระบายก็ยิ่งโกรธเป็นวงจรไม่จบสิ้น แม้จะรู้สึกดีตอนทำก็ตาม”

คนเรามักตกหลุมพรางว่าอะไรที่ทำให้รู้สึกดีมันย่อมดีกับชีวิตและสุขภาพ แม้เราจะรู้สึกดีหลังระบายออกไป แต่ความรู้สึกดีนั้นอาจทวีความรุนแรงและความโกรธได้ การได้ระบายความรุนแรงออกมา อาจไปเผลอทำร้ายคนอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย

และเมื่ออารมณ์พุ่งพล่านสงบเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว อย่าลืมที่จะชวนอีกฝ่ายพูดคุยว่า ต้นตอของความโกรธเกิดจากอะไร และเขาคิดอย่างไรกับสถานการณ์นั้นๆ แล้วร่วมกันหาทางออกหรือแก้ปัญหา

ทุกวันนี้เรากำลังเผชิญกับสังคมที่เต็มไปด้วยการระบายอารมณ์ความรู้สึกบนโลกออนไลน์รายวัน แล้วเราคำนึงกันไหมว่ากำลังสร้างสังคมแบบอย่างให้เด็กในยุคต่อไปแบบไหน


กำลังโหลดความคิดเห็น