รพ.จิตเวชโคราช Mou ร่วมเรือนจำกลางนครราชสีมา จัดระบบการแพทย์จิตเวชทางไกล ตรวจรักษาผู้ต้องขังป่วยทางจิตผ่านระบบวิดีโอคอล เริ่ม 1 ธ.ค.นี้ จัดดูแลต่อเนื่องในชุมชนหลังพ้นโทษ เผยมีผู้ต้องขังป่วยจิตขึ้นทะเบียนรักษาแล้ว 30 คน ส่วนใหญ่เป็นจิตเภท และซึมเศร้า พร้อมขยายผลเรือนจำทุกแห่งในปีหน้า
วันนี้ (25 พ.ย.) ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) นครราชสีมา นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ พร้อมด้วย นายสมศักดิ์ เกียรติดานุสรณ์ ผู้บัญชาการเรือนจำกลางนครราชสีมา และ นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การใช้ระบบการแพทย์จิตเวชทางไกล" (Tele psychiatry medicine) ดูแลผู้ต้องขังที่มีปัญหาสุขภาพจิตและป่วยทางจิต
นพ.กิตต์กวี กล่าวว่า การจัดระบบบริการการแพทย์จิตเวชทางไกล เป็นการพัฒนาระบบการดูแลผู้ต้องขังซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงเกิดปัญหาทางจิตได้สูงกว่าประชาชนทั่วไปหลายเท่าตัว ให้ได้รับการตรวจรักษาอย่างมีคุณภาพมาตรฐาน โดยรพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ ในฐานะที่เป็นรพ.เฉพาะทางได้เชื่อมต่อเทคโนโลยีการสื่อสารในระบบสมาร์ท ฮอสปิตอล กับเรือนจำกลางนครราชสีมา และจะจัดจิตแพทย์และทีมสหวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง อาทิ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ ทำการตรวจรักษาผู้ต้องขังในเรือนจำกลางฯ ที่ป่วยทางจิตผ่านทางระบบวิดีโอคอล ร่วมกับฝ่ายการแพทย์ของเรือนจำกลางฯ ดูแลครอบคลุมทั้งการส่งเสริมป้องกัน การบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2562 เป็นต้นไป โดยที่เรือนจำกลางฯ มีผู้ต้องขังประมาณ 4,000 กว่าคน ในจำนวนนี้ป่วยทางจิตและขึ้นทะเบียนรักษารวม 30 คน ส่วนใหญ่เป็นโรคจิตเภท และซึมเศร้า
นพ.กิตต์กวี กล่าวว่า สำหรับกลุ่มผู้ป่วยทางจิตที่มุ่งเน้นมี 2 กลุ่ม คือ ผู้ป่วยเก่าที่มีอาการทางจิตเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย และกลุ่มผู้ป่วยที่รับยาเดิมครบ 1 ปี ซึ่งมีประมาณร้อยละ10 ของผู้ป่วยทั้งหมด เพื่อให้จิตแพทย์ประเมินอาการและปรับแผนการรักษาให้เหมาะสม ผู้ต้องขังที่ป่วยไม่ต้องเดินทางไป รพ.จิตเวชฯ โดยบันทึกข้อมูลผู้ป่วยในระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด จากนั้น รพ.จิตเวชฯจะจัดส่งยาให้ผู้ป่วยกินอย่างครบถ้วน และเมื่อผู้ป่วยพ้นโทษ ซึ่งมีเฉลี่ยเดือนละ 1-2 คน สสจ.นครราชสีมาจะดำเนินการจัดระบบการดูแลต่อเนื่องเหมือนผู้ป่วยจิตเวชทั่วไป โดยสถานพยาบาลในพื้นที่ตั้งแต่ รพ.ชุมชนลงไปถึงรพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล จะจัดทีมไปเยี่ยมบ้านผู้ป่วยทุก 1 เดือนหรือตามความจำเป็น ซึ่งขณะนี้ รพ.จิตเวชฯ ได้เชื่อมต่อการดูแลผู้ป่วยจิตเวชแบบออนไลน์ภายใต้ระบบสมาร์ท เซอร์วิส กับสถานพยาบาลทุกแห่งใน จ.นครราชสีมาแล้ว หากผู้ต้องขังมีภูมิลำเนานอกเขต จ.นครราชสีมา ก็จะมีระบบการส่งต่อเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
“ผลดีของระบบการแพทย์จิตเวชทางไกลในเรือนจำ เป็นการใช้ความก้าวหน้าเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร มาลดข้อจำกัดต่างๆในงานบริการ จะช่วยให้ผู้ต้องขังที่ป่วยทางจิตได้รับการดูแลรักษาจนหายขาดหรือทุเลา ป้องกันการก่อความรุนแรง ปัญหาขาดยา และป้องกันการก่อคดีซ้ำจากอาการป่วยทางจิต เพิ่มความปลอดภัย ลดภาระเจ้าหน้าที่เรือนจำ เนื่องจากการพาผู้ต้องขังออกนอกสถานที่ 1 คน จะต้องใช้บุคลากร 3-4 คน” นพ.กิตต์กวีกล่าวและว่า รพ.จิตเวชฯจะประเมินผลใน 6 เดือน จากนั้นจะขยายผลในเรือนจำทั้งจังหวัดที่เหลืออีก 5 แห่งในระยะที่ 2 คือ เรือนจำอ.บัวใหญ่ ,เรือนจำอ.สีคิ้ว , เรือนจำกลางคลองไผ่ ,ทัณฑสถานหญิงนครราชสีมา และทัณฑสถานเกษตรอุตสาหกรรมเขาพริก ภายในปี 2563 และในระยะที่ 3 จะขยายผลในเรือนจำในเขตนครชัยบุรินทร์อีก 3 จังหวัด คือ ชัยภูมิ บุรีรัมย์และสุรินทร์ ซึ่งมีจังหวัดละ 2 แห่งต่อไป