xs
xsm
sm
md
lg

ติดหูที่หัวใจ!! รับฟังกันวันละ 10 นาที ป้องกันใจป่วย ลดเครียด แนะ 3 เทคนิคการฟัง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.คาดอีสานตอนล่างป่วยทางจิต 7 แสนคน มีคนพยายามฆ่าตัวตายกว่า 2,400 คน เร่งชวน 1.7 ล้านครอบครัว 4 จังหวัดอีสานตอนล่าง "ติดหูที่หัวใจ" หันหน้าเปิดใจ รับฟังกันวันละ 10 นาที โดยเฉพาะคนในครอบครัว ช่วยคลายทุกข์จากหนักเป็นเบา ป้องกันป่วยทางจิตใจ แนะ 3 เทคนิคการฟัง

วันนี้ (5 พ.ย.) ที่ลานชั้น 1 ห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล 21 จ.นครราชสีมา นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เขตสุขภาพที่ 9 "นครชัยบุรินทร์" กล่าวภายหลังเปิดนิทรรศการ สุขภาพจิตไทย...ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เนื่องในสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติประจำปี 2562 ซึ่งตรงกับวันที่ 1-7 พ.ย.ของทุกปี ว่า ปัญหาสุขภาพจิตส่วนใหญ่ มักเริ่มต้นมาจากความเครียด ก่อให้เกิดความทุกข์ใจ และเจ็บป่วยทางใจ เช่น โรคซึมเศร้า วิตกกังวล จิตเภท เป็นต้น ในปีนี้ สธ.จึงเน้นให้ประชาชนหันมาใส่ใจรับฟังกันมากขึ้น การฟังจะเป็นเครื่องมือสำคัญทำให้เราเข้าใจกันและให้การดูแลช่วยเหลือกันในเบื้องต้น โดยเริ่มต้นที่ครอบครัว ซึ่งเป็นหน่วยสังคมที่เล็กแต่สำคัญที่สุด และขยายผลไปสู่คนรอบข้าง ที่ทำงาน ชุมชนและสังคม ทั้งนี้ ผลสำรวจระดับชาติของกรมสุขภาพจิตปี 2556 ประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป มีอัตราป่วยโรคทางจิตเวชหรือมีความผิดปกติของพฤติกรรมเสพติดสารใดๆ ในรอบ 12 เดือนของปีที่สำรวจร้อยละ 13.4 คาดว่าใน 4 จังหวัดอีสานตอนล่าง นครชัยบุรินทร์ คือ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ซึ่งมีประชากร 6.7 ล้านกว่าคน จะมีผู้ที่มีปัญหาทางจิตตั้งแต่ระดับน้อยจนถึงขั้นป่วยประมาณ 7 แสนคน โดยในปีงบประมาณ 2562 เข้ารับการตรวจรักษา 3 แสนกว่าคน และมีรายงานผู้พยายามฆ่าตัวตาย ซึ่งแสดงว่ามีปัญหาในระดับรุนแรง  2,407 คน และฆ่าตัวตายสำเร็จ 205 ราย

“ในปีงบประมาณ 2563 นี้ จึงมีนโยบายเร่งป้องกันปัญหา และลดจำนวนผู้ป่วยทางใจ โดยรณรงค์เผยแพร่ความรู้ครัวเรือนที่มี 1.7 ล้านกว่าครัวเรือน หันหน้ามารับฟังสมาชิกในครัวเรือนที่มีทุกข์ทางใจอย่างจริงจัง โดยการติดหูไว้ที่หัวใจ ห่วงใยกัน เพื่อให้ผู้ที่มีปัญหาได้ระบายความรู้สึกออกมา จะช่วยให้จิตใจดีขึ้น และให้การช่วยเหลือเบื้องต้น โดยใช้เวลาวันละ 10 นาทีหรือฟังให้ได้ 10 ครั้งของการสนทนา สามารถผ่อนหนักให้เป็นเบา ป้องกันการสูญเสียจากปัญหาสุขภาพจิตทั้งการเจ็บป่วยและการฆ่าตัวตายได้ ส่วนผู้ที่ป่วยและอยู่ในระบบการรักษาแล้ว จะเน้นดูแลอย่างต่อเนื่องไม่ให้ขาดยา เพื่อป้องกันไม่ให้อาการป่วยกำเริบซ้ำสอง” นพ.พงศ์เกษมกล่าว  

นพ.พงศ์เกษมกล่าวว่า ประการสำคัญทุกครอบครัว ควรสร้างความผูกพันและความอบอุ่นโดยยึดหลัก 3 ส. เป็นแนวปฏิบัติคือ 1. มีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน ไม่ห่างเหินหรือใกล้ชิดคนในครอบครัวจนเกินไป 2. ใส่ใจซึ่งกันและกัน มีเวลาให้ครอบครัว ทำกิจกรรมร่วมกัน ช่วยกันดูแลเมื่อมีปัญหา และ 3.สื่อสารที่ดีต่อกัน โดยพูดคุยบอกเล่าความรู้สึกในใจด้วยภาษาท่าทางที่เป็นมิตร เช่นสบตา ยิ้ม โอบกอด จับมือ จะช่วยให้คนในครอบครัวมีพลังใจที่เข้มแข็ง สามารถรับมือกับปัญหาที่มากระทบในชีวิตประจำวันได้

นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผอ.รพ.จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ กล่าวว่า ทักษะการรับฟังที่ดีควรยึดเทคนิค 3 ฟังไปพร้อมๆ กัน คือ 1.ฟังด้วยหู คือฟังเรื่องราว เนื้อหาและสาเหตุ  2. ฟังด้วยตา คือ ฟังสีหน้า ท่าทีและกริยาของผู้พูด และ 3.ฟังด้วยใจ คือ ฟังอารมณ์ ความรู้สึก และความต้องการลึกๆ ในใจของผู้พูด โดยไม่พูดแทรก ไม่แสดงความเห็น ไม่สั่งสอนใดๆ ไม่ตัดสินใดๆว่าถูกหรือผิด ไม่มองว่าเป็นเรื่องขำขันหรือไร้สาระ เพราะจะยิ่งเพิ่มความเครียดขึ้นไปอีก โดยหลังจากจบจากการรับฟังแล้ว จะต้องไม่เก็บความทุกข์ของผู้พูดไว้กับตัวเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น