เลขาฯ อย. ยันต้องของบพัฒนาขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพิ่ม ชี้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจมหาศาล โดยเฉพาะส่งออก เหตุขึ้นทะเบียนได้เร็วขึ้น มีการตั้งกองใหม่มาดำเนินงานโดยเฉพาะ ปัดเร่งทำเอาใจการเมือง
นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการิาการและยา (อย.) กล่าวถึงการขอแปรญัตติงบประมาณพัฒนาระบบสมุนไพร 4.5 ล้านบาท ว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เห็นชอบและจะช่วยเหลือ เพราะเรื่องสมุนไพรเป็นนโยบายรัฐบาลที่จะมาช่วยเรื่องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งงบฯ ที่นำมานั้นจะเอามาพัฒนาระบบการขึ้นทะเบียนที่รวดเร็วขึ้น เนื่องจากจะมีการแยกกองพัฒนางานสมุนไพรออกมาโดยเฉพาะ เท่ากับว่าผู้ประกอบการที่จะขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สมุนไพรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น อาหารเสริม ยา หรือเครื่องสำอาง เดิมต้องไปขึ้นทะเบียนหรือยื่นขอจดแจ้งตามลักษณะของผลิตภัณฑ์ ก็สามารถมายื่นขึ้นทะเบียนภายใต้กองใหม่นี้เลย โดยจะมีการโอนย้ายเจ้าหน้าที่มาดำเนินการเรื่องนี้โดยเฉพาะ ซึ่งจะทำให้มีความรวดเร็วมากขึ้น
นพ.ไพศาล กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์สมุนไพรบางอย่าง สามารถขึ้นทะเบียนและได้ทะเบียนอัตโนมัติ เพราะมีฐานข้อมูลอยู่แล้ว เช่น กลุ่มเวชสำอาง และอาหาร หรือยาแผนโบราณที่มีสูตรตำรับอยู่แล้ว จะเป็นลักษณะให้ผู้ประกอบการรับรองตัวเองว่าผลิตภัณฑ์ได้มาตรฐาน ไม่กระทำผิดกฎต่างๆ แต่จะสุ่มตรวจในภายหลัง ซึ่งยืนยันว่า การสุ่มตรวจในภายหลังเพื่อให้ผู้ประกอบการระวังตัวไม่ให้ทำผิด เพราะไม่รู้ว่าจะถูกสุ่มตรวจเมื่อไร ดังนั้น ผู้บริโภคไม่ต้องกังวล อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์บางอย่างจะต้องตรวจสอบเข้ม จึงต้องใช้เวลาบ้าง ทั้งนี้ การดำเนินงานพัฒนาระบบขึ้นทะเบียนสมุนไพรเป็นการดำเนินงานตามพ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 เพื่อดึงผลิตภัณฑ์สมุนไพรทั้งหมดเข้ามาสู่ระบบ ทำให้จากเดิมที่ผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำจากสมุนไพร ที่ไม่สามารถโฆษณาสรรพคุณใดๆ ได้ ก็สามารถทำได้ เชื่อว่าการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สมุนไพรอย่างครบวงจร และรวดเร็วจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้ เพราะตลาดมีการเติมโตทั้งในและต่างประเทศ ยิ่งขึ้นทะเบียนเร็วก็จะยิ่งส่งเสริมธุรกิจโดยเฉพาะการส่งออก
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า การที่อย.เร่งรัดขึ้นทะเบียนอย่างรวดเร็ว เป็นการทำเพื่อเอาใจฝ่ายการเมืองหรือไม่ ทั้งๆ ที่ผลิตสุขภาพต้องใช้เวลาในการตรวจสอบอย่างรอบคอบ นพ.ไพศาล กล่าวว่า ขอยืนยันว่าการไม่ได้ทำเพื่อเอาใจใคร แต่การพัฒนาระบบการตรวจสอบให้เร็วขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่ควรทำอยู่แล้ว ซึ่งการอนุมัติเร็วก็ยืนยันว่าไม่ได้หย่อนประสิทธิภาพในการตรวจสอบคุณภาพ เพราะเรายังมีระบบการสุ่มตรวจเพิ่มเติมต่อเนื่อง และในผลิตภัณฑ์ เช่น ยา เราก็ใช้เวลาในการตรวจสอบอย่างเข้มงวด มีการใช้ผู้เชี่ยวชาญมาร่วมตรวจวิเคราะห์ เป็นต้น