xs
xsm
sm
md
lg

สสส. เทรนทีมนวัตกรรุ่นใหม่ ผู้เข้ารอบการประกวด ThaiHealth Inno Awards 2019 เฟ้นหาสุดยอดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ เน้นใช้งานจริง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการงานประกวดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ครั้งที่ 2 เพื่ออบรมเสริมทักษะให้กับทีมเยาวชน 18 ทีม ที่ผ่านการคัดเลือกในโครงการประกวด ThaiHealth Inno Awards 2019
นายแพทย์วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองประธานกรรมการกองทุน สสส. คนที่ 2 กล่าวว่า ในช่วงระยะกว่า 20 ปีที่ผ่านมา คนไทยเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นทุกปี ทุกวันนี้หลายหน่วยงานได้พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีหลากหลายรูปแบบ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวที่กำลังเกิดขึ้น

“ในช่วง 10 ถึง 20 ปีหลัง คนไม่ค่อยมีปัญหาจากโรคติดเชื้อ เพราะว่าเราคุมได้แล้ว กระทรวงสาธารณสุข ก็ทำงานเรื่องนี้มาต่อเนื่องได้ดี แต่ในระยะหลังๆโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs กำลังมาแรง โรคที่คนเป็นกันเยอะก็คือ โรคเบาหวาน ความดัน และหัวใจ โรคเหล่านี้มักมีสาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต การมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ การอยู่การกินที่เปลี่ยนแปลงไปมาก อาหารจำพวก หวาน มัน เค็ม ที่หาง่ายขึ้นและกินได้ทั้งวันทั้งคืน เช่น Fast food หรืออาหาร 24 ชั่วโมง หรือเครื่องดื่มต่างๆที่มีน้ำตาลเยอะ อาหารจำพวกนี้มีผลมากที่สุด ต่อมาก็เป็นพวกสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในอาหารนั้นก็คือสารเคมีต่างๆ เลยทำให้เกิดโรค NCDs”

“กิจกรรม Workshop ภายในการประกวด ThaiHealth Inno Awards ถือเป็นกิจกรรมเล็กๆอันหนึ่ง ที่จะปลูกฝังเยาวชนให้มีความเป็นนักประดิษฐ์นวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพตั้งแต่เนิ่นๆ ตอนนี้อาจจะทำได้ไม่เยอะ แต่ถ้ามันสามารถขยายผลไป ครูที่ได้แนวคิดนี้แล้วเอาไปทำจริงจัง นักเรียนรุ่นต่อไปก็จะไปสานต่อ หรือไม่บางคนก็ไปทำงานทำการ อาจจะไปเป็นผู้นำในเรื่องสุขภาพ เช่นเรื่องเหล้าเรื่องบุหรี่หรือการพนัน หรือเรื่องอาหารที่เขาจะเป็นต้นแบบ เขามีครอบครัวไปก็จะดูแลครอบครัว เราก็เริ่มจากเล็กไปหาใหญ่ อาจารย์หมอประเวศ วะสี เรียกว่า สร้างเจดีย์จากฐานราก ปูพื้นฐานโดยเริ่มจากคนทุกหมู่เหล่า”
ขณะที่ ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา รักษาการผู้อำนวยการสำนักวิชาการและนวัตกรรม สสส. กล่าวว่า กิจกรรมเวิร์กช็อปครั้งนี้ มีเป้าหมายพัฒนาทักษะนวัตกรให้กับทั้งครูและเยาวชน โดยมีวิทยากรจากมูลนิธิวายไอวาย ช่วยออกแบบกิจกรรมให้มีความน่าสนใจ สังเกตได้ชัดเลยว่าเด็กมีความสนุกสนานและได้ความรู้ด้วย โดยในปีนี้มีความต่างตรงที่ผลงานมีหลากหลายขึ้น ระดับมัธยมศึกษาสามารถออกแบบสิ่งประดิษฐ์ที่มีลักษณะจับต้องได้มากขึ้น ในขณะที่ระดับอาชีวศึกษาก็มีความหลากหลายของสิ่งประดิษฐ์มากขึ้นเช่นกัน เริ่มมีงานเกี่ยวกับการประกอบอาชีพหรือการประกอบอาหารมากขึ้น แสดงว่าพวกเขาเริ่มมีความเข้าใจเกี่ยวกับคอนเซ็ปการสร้างเสริมสุขภาพมากขึ้นแล้ว เพราะแต่เดิมเด็กๆ จะมุ่งแค่เรื่องการรักษาเท่านั้น”

“สำหรับการแข่งขันของทั้ง 18 ทีมในครั้งนี้นั้น จะมีการแยกกันระหว่างสายอาชีวะกับมัธยม ซึ่งกรรมการก็จะคนละชุดกัน โดยในรอบแรก First screen จะให้ทีมที่สมัครส่งคลิปผลงานมาให้ดูก่อนประมาณ 3 นาที เพื่อขายไอเดียก่อน ซึ่งผมที่เป็นหนึ่งในคน First Screen ก็จะเห็นว่าเด็กมีความเข้าใจในเรื่องนวัตกรรมมากขึ้น สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือว่าเขาจะรู้ว่าสิ่งนี้แก้ปัญหาอะไร และใครที่น่าจะได้ประโยชน์จากนวัตกรรมของเขา ซึ่งเป็นหัวใจเลย”

“การสร้างสิ่งประดิษฐ์อะไรขึ้นมาสักอย่าง ไม่ใช่ว่าสร้างอะไรขึ้นมาก่อนก็ได้ แล้วพอทำเสร็จก็ไปหากลุ่มเป้าหมายเพื่อที่จะใช้ ซึ่งถ้าเป็นลักษณะนี้มักจะล้มเหลว ฉะนั้นปีนี้จากที่เห็นในการทำคลิปที่ผ่านมา พบว่าส่วนมากเด็กๆจะโฟกัสไปที่ปัญหาก่อน ว่าสิ่งรอบตัวของเขามันมีปัญหาแบบนี้ๆนะ แล้วนวัตกรรมสุขภาพสิ่งประดิษฐ์ของเขา มันจะไปแก้อะไรได้ แล้วกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ก็จะเริ่มเห็นตรงนี้ชัดขึ้น ในงานนี้หลักๆ ผมมองในเรื่องความเข้าใจของเด็กกับครู ว่าเขาเข้าใจเรื่องของการสร้างเสริมสุขภาพได้ถูกต้องมากแค่ไหน เพราะการเข้าใจปัญหา เข้าใจการสร้างเสริมสุขภาพ สามารถผลิตออกมาแล้วทำได้จริง อันนี้สำคัญมากกว่า ผมอยากให้ผลงานที่น้องๆคิดออกมาได้นั้น กลับไปสู่พื้นที่ชุมชนรอบตัวเขาจริงๆ จากรุ่นแรกที่เคยประกวดไปเมื่อปีก่อน มีความสำเร็จเยอะ ถึงแม้ว่าบางชิ้นจะไม่ได้รางวัลลำดับ 1 2 3 แต่สุดท้ายมีการพัฒนาต่อ ไม่ได้จบแค่ในการประกวด”

ผลการคัดเลือกโครงการประกวดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ThaiHealth INNO Awards 2019คัดเหลือรอบสุดท้าย 18 ทีม

ผลการคัดเลือกโครงการประกวดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ThaiHealth INNO Awards 2019 จำนวน 129 ผลงาน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 104 ผลงาน ระดับปวช. 25 ผลงาน คัดเหลือรอบสุดท้าย 18 ทีม เป็นระดับปวช. 8 ทีม มัธยมปลาย 10 ทีม กำหนดส่งผลงานที่ได้รับการปรับปรุง รอบสุดท้ายในวันที่ 27 ธ.ค. 2562 และประกาศผลการประกวดในวันที่ 1 ก.พ. 63

ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
ชื่อทีม สถานศึกษา
ทีม Elderly Health Food ร.ร.ธิดาแม่พระ
ทีม AD Astra (ไปสู่ดวงดาว) ร.ร.มหาไถ่ศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ทีม Boripat Health Care ร.ร.แม่สะเรียง “บริพัตรศึกษา”
ทีม Companion Tiger ร.ร.วิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี
ทีม Hero on Earth From RJ116 ร.ร.ราชินี
ทีม LKS Genius ร.ร.ลำปางกัลยาณี
ทีม P.W.Inventors ร.ร.ปลาปากวิทยา
ทีม Safe Zone ร.ร.สวนกุหลาบวิทยาลัย ธนบุรี
ทีม Lady wolves Swing Arm ร.ร.ศึกษานารี
ทีม สามสาวสวย ร.ร.ปลาปากวิทยา

ระดับปวช.
ชื่อทีม สถาบันการศึกษา
ทีมลูกพระวิษณุ วิทยาลัยการอาชีพไชยา
ทีมนักประดิษฐ์วก.ไชยา วิทยาลัยการอาชีพไชยา
ทีมNTR.02 วิทยาลัยเทคนิคอำนาจเจริญ
ทีมต้นยางสารภี วิทยาลัยเทคนิคสารภี
ทีมGlass Tower วิทยาลัยการอาชีพนวมินทราชินี มุกดาหาร
ทีมCMVC Healthy Plus วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่
ทีมNTR.01 วิทยาลัยเทคนิคอำนาจเจริญ
ทีมEP SKTC วิทยาลัยเทคนิคสระแก้ว








กำลังโหลดความคิดเห็น