“ถ้าไม่ให้เล่นมือถือก็ไม่รู้จะทำอะไร”
ลูกคุณเคยตอบแบบนี้เมื่อถูกขอให้หยุดใช้มือถือเสียบ้าง หรือไม่ ?
ฟังดูผิวเผินอาจรู้สึกเฉย ๆ แต่ถ้ามองลึกลงไปน่าตกใจไม่น้อย !
เมื่อครั้งสมัยที่ยังไม่มีโทรศัพท์มือถือ ไม่ได้อยู่ในโลกเทคโนโลยี เป็นรุ่นพ่อแม่เมื่อครั้งยังเด็ก ยังมีกิจกรรมนอกบ้านมากมาย หรือที่เรียกว่างานอดิเรก ยังมีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นอ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง เล่นกีฬา ฯลฯ
น้อยมากที่จะไม่มีอะไรทำ
แต่สำหรับเด็กยุคนี้แล้ว งานอดิเรกของพวกเขามักจบลงด้วยโทรศัพท์มือถือ แม้ว่าจะดูหนัง ฟังเพลง หรือแม้แต่เล่นกีฬา แต่เป็นในรูปแบบที่ทุกอย่างอยู่ในโทรศัพท์มือถือเท่านั้น โอกาสที่จะได้เคลื่อนไหวร่างกาย หรือทำกิจกรรมที่หลากหลายก็ลดน้อยลง
ในขณะเดียวกันนอกจากคำตอบข้างต้นแล้ว คนเป็นพ่อแม่ก็มักพบว่า
“ลูกอารมณ์ร้อน ไม่รู้จักการรอคอย”
“ลูกเอาแต่ใจตัวเอง”
และสงสัยว่าลูกอาจเป็นโรคสมาธิสั้น
ทั้งสองเรื่องไม่เกี่ยวกัน แต่มันกลับเชื่อมโยงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมยุคนี้
ยุคแห่งความเร่งรีบที่เน้นเรื่องความเร็ว หรือ Speed เป็นตัวตั้ง ประเภทยิ่งเร็วยิ่งดี ยิ่งเร็วยิ่งเก่ง ยิ่งเร็วยิ่งรวย ฯลฯ
วงจรของความเร็วก็เลยต้องทำให้ผู้คนต้องคิดเร็ว ทำเร็ว ใจเร็ว ได้เร็ว เปลี่ยนเร็ว และอีกหลาย ๆ เร็ว
และเมื่อมีลูกก็จะเน้นให้ลูกมีพัฒนาการทุกด้านเร็ว พูดเร็ว เดินเร็ว เข้าโรงเรียนเร็ว ทำหลายสิ่งอย่างให้ได้เร็วกว่าคนอื่น
ยิ่งโลกยุคปัจจุบันเป็นโลกแห่งเทคโนโลยี ยิ่งทำให้ผู้คนเน้นเรื่องความเร็ว และความเร่งรีบแทบทุกมิติของวิถีชีวิต เพราะผู้คนก็ถูกปลูกฝังให้สามารถเข้าถึงข้อมูลด้วยความรวดเร็วเพียงใช้ปลายนิ้วมือ
บางทีก็เกิดคำถามว่า เราจำเป็นต้องเน้นความเร็วในทุกเรื่องกระนั้นหรือเรากำลังเสพติดความเร็ว
เพราะเจ้าความเร็วที่ว่า ทำให้ชีวิตมนุษย์ทุกวันนี้สนใจแต่เรื่องภายนอกหรือ “ชีวิตด้านนอก” แต่ไม่ได้สนใจเรื่องภายในของตนเองหรือ “ชีวิตด้านใน” กันเลย
ทำให้บางสิ่งหายไปจากผู้คนมากขึ้นเรื่อย ๆ
นั่นคือ “ความนิ่ง” !
ในวงการแพทย์มีจำนวนผู้ป่วยเด็กที่พ่อแม่ส่งไปทำการรักษาด้วยอาการที่ลูกอยู่ไม่นิ่ง หรือสมาธิสั้นเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
เด็กที่เติบโตขึ้นมาโดยมีความเร็ว ความเร่งรีบ และอยู่กับสิ่งเร้ารอบตัวแทบจะตลอดเวลา ผลผลิตของสรรพสิ่งและมวลมนุษย์จึงออกมาตอบสนองแค่ ”ชีวิตด้านนอก” เท่านั้น
เริ่มตั้งแต่ตื่นเช้ามาก็รีบอาบน้ำ รีบแต่งตัว รีบส่งลูกไปโรงเรียน รีบไปทำงานเพื่อให้ทันตอกบัตร รีบกินอาหารในแต่ละมื้อ บางคนถึงกับต้องรวบมื้อเช้ากับมื้อเที่ยงเข้าด้วยกัน เสร็จแล้วก็เร่งทำงานให้เสร็จ เวลาขับรถก็เร่งรีบอยากให้ถึงที่หมายปลายทางโดยเร็ว ใครขับรถช้าก็หงุดหงิด ใครทำอะไรชักช้าก็รำคาญ
ยิ่งถ้าเป็นลูกหลานของตัวเองทำอะไรช้าก็มักต่อว่าแล้วจะทำมาหากินอะไรได้ทัน หรือก็ประมาณว่าไม่ทันคน
ทั้งที่บางคนก็ไม่รู้เหมือนกันว่าที่รีบอยู่ทุกวี่วัน จะรีบไปไหน รีบไปทำไม แต่ที่ทำเพราะว่ารีบจนเป็นนิสัย จนในที่สุดผู้คนในสังคม โดยเฉพาะคนเมืองก็กลายเป็นคนเร่งรีบไปซะทุกเรื่อง
บางทีก็อดสงสัยไม่ได้ว่าเรื่องคนที่ชอบแซงคิว แท้จริงอาจไม่ใช่เพราะไม่เคารพในสิทธิของคนอื่นเท่านั้น แต่เป็นเพราะใจร้อน เห็นคิวยาวก็เริ่มทนไม่ไหว ความอดทนต่ำ รอคอยไม่ได้ ก็เลยอยากแซงคนอื่น เพราะสนใจแต่ว่าตัวเองเร่งรีบ
ไม่น่าแปลกถ้าเด็กยุคนี้จะขาด ”ความนิ่ง” ท่ามกลางสังคมเร่งรีบ
และด้วยเจ้าความเร็วและเร่งรีบที่แหละที่ทำให้พ่อแม่ยุคนี้ที่มีลูก ก็เร่งใส่อะไรต่อมิอะไรมากมายให้กับลูก เพราะอยากให้ลูกเก่ง ก็ต้องเริ่มให้ลูกเรียนได้เร็ว พาลูกไปเรียนกวดวิชา จะได้เรียนล่วงหน้ากว่าเด็กคนอื่น แถมยังมีกิจกรรมอีกสารพัดที่อยากให้ลูกเรียน ทั้งกิจกรรมดนตรี กีฬา ร้องเพลง และอีกสารพัด เรียกว่าลูกแทบไม่มีวันหยุดเลย
เรียกว่าเด็กยุคนี้แทบหาเวลาว่างไม่ได้เลย
ลองพินิจพิเคราะห์ดูจะพบว่าแท้จริงแล้ว สิ่งที่เด็กยุคนี้ขาดแคลนมากขึ้นทุกขณะ คือ “ความนิ่ง” หรือ “ความสงบ” หรือ “การมีสมาธิ” หรือ “การได้อยู่กับตัวเอง” นั่นเอง
พ่อแม่อาจต้องลองถามตัวเองดูว่า เราเคยปล่อยให้ลูกอยู่เฉย ๆ บ้างหรือเปล่า ?
สอดคล้องกับหนังสือชื่อ “สมองหายล้า ชีวิตก็หายเหนื่อย” เขียนโดย อีชีฮยอง จิตแพทย์ชาวเกาหลี ที่เขียนถึงช่วงหนึ่งว่าคนเราต้องมีช่วงเวลานิ่งๆ ของตัวเองบ้าง
“แค่อยู่กับผู้อื่นก็ทำให้สมองล้าได้ แต่ละวันควรมีเวลาของตัวเองเงียบ ๆ ปลีกตัวเข้าห้องส่วนตัวหรือมุมส่วนตัว ต้องหาเวลาอยู่คนเดียวเสียก่อน แล้วจะเจอพลังสร้างสรรค์ ความสามารถต่าง ๆ ที่หลับใหลอยู่ในตัวเรา ทำสมาธิให้จิตสงบ แล้วความคิดสร้างสรรค์ดี ๆ จะเกิดขึ้นได้เอง”
คำถามคือ เราได้เคยปล่อยให้มีช่วงเวลาเหล่านี้หรือเปล่า หรือเราง่วนกับงานต่างๆ มากมาย จนเราไม่เคยปล่อยให้มีช่วงเวลาเหล่านี้เลย ที่สำคัญแล้วเราเคยปล่อยให้ลูกมีช่วงเวลาว่างอยู่กับตัวเองบ้างด้วยหรือไม่
แต่สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ พ่อแม่ต้องเปลี่ยนวิธีคิดก่อนว่า การให้ลูกอยู่เฉย ๆ ไม่ได้หมายความว่าปล่อยเวลาให้สูญเปล่า หรือหายใจรดทิ้ง หรือคิดว่าลูกจะไม่ได้พัฒนาการใด ๆ
ตรงกันข้าม การปล่อยช่วงเวลาให้ลูกอยู่เฉย ๆ เสียบ้าง จะทำให้เราเห็นอะไรบางอย่างในตัวลูกในแบบที่เขาเป็น ไม่ใช่ในแบบที่เราอยากให้เป็น
เนื่องจากการใช้ชีวิตในปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคของโซเซียลมีเดีย มีข้อมูลข่าวสารมากมาย รวมถึงสิ่งเร้าที่มาในสารพัดรูปแบบเปลี่ยนแปลงเร็วตลอดเวลา แม้แต่เรื่องบันเทิงที่ต้องการดูเพื่อความเพลิดเพลิน แต่เมื่อใช้เวลาอยู่กับมันนาน ก็ทําให้สมองทํางานแทบจะตลอดเวลา ซึ่งมีส่วนทำให้นำไปสู่ภาวะความเครียด ความอดทนน้อยลง อารมณ์หงุดหงิด อาจทำให้สุขภาพแย่ลงตามไปด้วย
ผลงานวิจัยมากมายทั้งในและต่างประเทศจำนวนมากยืนยันว่าการทำสมาธิช่วยในการรักษาโรคต่าง ๆ ได้ เช่น ไมเกรน หอบหืด ที่เห็นชัดที่สุดคือทำให้สุขภาพจิตดีขึ้น จิตใจแจ่มใส ลดความเครียด ฯลฯ
เนื่องจากการทำสมาธิ จะช่วยเพิ่มระดับของสารสื่อประสาทที่มีชื่อว่า เซโรโทนิน (Serotonin) ในสมอง ยับยั้งการทำงานของสมองส่วนกลางส่วนที่ทำหน้าที่สร้างอารมณ์ด้านลบ และขณะที่ทำสมาธิจะช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดและการเผาผลาญอาหารในร่างกายทำงานดีขึ้น
พ่อแม่ผู้ปกครองต้องลองเหลียวกลับมามองว่า สารพัดอาการที่เกิดขึ้นกับลูกมาจากสภาพความเร่งรีบของผู้คนในครอบครัว ด้วยหรือเปล่า
การที่ลูกอยู่กับตัวเองไม่เป็น ไม่ได้หมายความว่าอยู่กับโทรศัพท์มือถือแล้วคือการอยู่กับตัวเองได้ แต่การอยู่กับตัวเองคือการเรียนรู้จักตัวเอง ได้รู้จิตใจ สภาพอารมณ์ ร่างกาย และความเป็นไปจากชีวิตด้านในของตัวเอง
ลองปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้ลูกอยู่กับตัวเองให้เป็นด้วยการ
หนึ่ง – ทำชีวิตให้ช้าลง
ลองปรับวิถีชีวิตของตัวเองและสมาชิกในครอบครัวให้ช้าลงบ้าง ลองกินข้าวช้าลง เดินช้าลง พูดช้าลง หรือปรับวิถีชีวิตที่เคยเร่งรีบ เช่น ถ้าต้องเร่งรีบไปทำงานแต่เช้า ลองปรับเวลาตื่นนอนให้เช้าขึ้น เพื่อไม่ต้องรีบมาก หรือเผื่อเวลาเดินทางจะได้ไม่หงุดหงิดเวลาขับรถ ฯลฯ
สอง – ตัดสิ่งที่ไม่จำเป็น
ด้วยข้อจำกัดของเวลา จึงควรตัดบางสิ่งที่ไม่จำเป็นออกจากชีวิตบ้าง เพื่อไม่ต้องเผชิญกับภาวะความยุ่งเหยิง หรือบางเรื่องที่เราควบคุมไม่ได้ เช่น การเดินทางแล้วรถติด หรือบริหารจัดการเรื่องนัดหมายไม่ให้ติดกันจนเกินไป เผื่อเวลาให้มากขึ้น หรือตัดบางนัดที่ไม่จำเป็นออกซะบ้าง
สาม - หาเวลาให้อยู่กับตัวเอง
หมายถึงการจัดสรรเวลาให้อยู่กับตัวเองอย่างแท้จริง มิใช่เพียงการอยู่คนเดียวแบบใช้มือถือทำกิจกรรมต่าง ๆ แต่เป็นการอยู่กับตัวเองแบบปราศจากมือถือ อยู่กับตัวเองจริง ๆ ได้มีเวลาครุ่นคิดกับตัวเอง หรือได้นั่งทอดหุ่ยฟังเสียงนกร้อง ชมดอกไม้ในสวนบ้าง
ถ้าเราฝึกหัดนิ่งให้เป็น จะพบว่าต่อให้โลกรอบตัววุ่นวายสับสนแค่ไหนก็ทำอะไรเราไม่ได้
โลกยุคนี้และยุคต่อ ๆ ไป นับวันจะยิ่งวุ่นวายสับสน ทักษะหนึ่งสำหรับลูกหลานเราที่ต้องมีให้ได้คือนิ่งให้เป็น สงบให้ได้ และอยู่กับตัวเองได้ทุกขณะ