xs
xsm
sm
md
lg

“เขตธนบุรี” แชมป์สวมหมวกกันน็อก 100% กทม.อัตราสูงสุด แต่ภาพรวมทั้งประเทศยังไม่กระเตื้อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สสส.ร่วมมูลนิธิไทยโรดส์ เผย อัตราสวมหมวกกันน็อกคนไทยไม่กระเตื้อง อยู่ที่ 45% คนซ้อนท้ายยิ่งต่ำแค่ 22% กทม.สวมหมวกกันน็อกสูงสุด 85% เขตธนบุรีครองแชมป์อัตราสวมหมวก 100% ส่วนบึงกาฬสวมหมวกต่ำสุด 12% เขตเมืองสวมมากกว่าชนบท ผู้ใหญ่สวมมากกว่าวัยรุ่น หวังเป็นข้อมูลประเทศคลอดนโยบาย ติดตามประเมินผล

วันนี้ (30 ก.ค.) ที่โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว กรุงเทพ ฟอร์จูน นพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คนที่ 2 กล่าวในงานแถลงผลอัตราการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ประจำปี 2561 ว่า ผลสำรวจดังกล่าวจัดทำโดยมูลนิธิไทยโรดส์ และเครือข่ายเฝ้าระวังสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนน ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. ซึ่งผลสำรวจนี้จะสะท้อนพฤติกรรมสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจัรยานยนต์ในปัจจุบัน ที่แยกไปถึงรายจังหวัด สามารถนำไปใช้เป็นฐานข้อมูลของประเทศ ในการออกมาตรการ และติดตามประเมินผลการทำงานได้

“เมื่อปี 2554 รัฐบาลกำหนดเป็นปีรณรงค์ สวมหมวกนิรภัย 100% แต่อัตราการสวมหมวกนิรภัยยังขยับขึ้นไม่มาก โดยปี 2559 อัตราการสวมหมวกนิรภัยอยู่ที่ ร้อยละ 43 และปี 2561 ขยับเพิ่มมาเป็นร้อยละ 45 นับว่ายังต่ำอยู่ แต่คาดหวังว่า อัตราการสวมหมวกนิรภัยจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุกปี หากทุกภาคส่วนร่วมมือกัน ทั้งภาครัฐ เอกชน ภูมิภาค จังหวัดต่างๆ หากใช้ข้อมูลนี้มาประกอบวางแผนการส่งเสริม หรือประเมินความสำเร็จมาตรการ ก็จะนำไปสู่ความปลอดภัยทางถนน และลดการเจ็บตายจำนวนมาก” นพ.วีระพันธ์ กล่าว

ด้าน นายณัฐพงศ์ บุญตอบ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการมูลนิธิไทยโรดส์ กล่าวว่า การสำรวจพฤติกรรมการสวมหมวกนิรภัยดำเนินการมาต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 โดยปีแรกเริ่มขึ้นเมื่อปี 2553 สำรวจจากผู้ใช้รถจักรยานยนต์ทั่วประเทศ 3 แสนคน พบว่า สวมหมวกนิรภัยร้อยละ 44 ส่วนปี 2561 สำรวจจากผู้ใช้รถจักรยานยนต์ 1.5 ล้านคน สวมหมวกนิรภัยเพียงร้อยละ 45 ถือว่าเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย เมื่อแยกเป็นเฉพาะผู้ขับขี่ พบว่า ในปี 2561 มีอัตราการสวมหมวกนิรภัยร้อยละ 52 ผู้โดยสารหรือคนซ้อนท้าย สวมหมวกนิรภัยร้อยละ 22 ซึ่งผู้โดยสารถือว่ามีความเสี่ยงไม่น้อยไปกว่าคนขับขี่เอง เพราะหากไม่สวมหมวกนิรภัยจะมีโอกาสได้รับความรุนแรงบาดเจ็บที่ศีรษะมากกว่าคนสวมถึงร้อยละ 72 เสี่ยงเสียชีวิตมากกว่าร้อยละ 39 โดยคนขับขี่ที่ไม่สวมหมวกมีโอกาสเสี่ยงเสียชีวิตร้อยละ 43 และคนซ้อนท้ายมีโอกาสเสียชีวิตสูงกว่า คือ ร้อยละ 58

นายณัฐพงศ์ กล่าวว่า เมื่อแยกเป็นพื้นที่จะพบว่า อัตราการสวมหมวกนิรภัยในพื้นที่เขตชุมชนเมืองอยู่ที่ร้อยละ 78 เฉพาะผู้ขับขี่ร้อยละ 85 ผู้โดยสารร้อยละ 48 ส่วนพื้นที่ชุมชนชนบท อัตราการสวมหมวกนิรภัยอยู่ที่ร้อยละ 31 เฉพาะผู้ขับขี่ร้อยละ 37 และผู้โดยสารร้อยละ 13 เมื่อพิจารณาตามรายจังหวัด พบว่า 10 จังหวัดที่มีอัตราการสวมหมวกนรภัยสูงสุด คือ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ร้อยละ 85 ภูเก็ต ร้อยละ 61 นนทบุรี ร้อยละ 60 นครศรีธรรมราช ร้อยละ 59 สมุทรปราการ ร้อยละ 59 ปทุมธานี ร้อยละ 56 เชียงใหม่ ร้อยละ 53 ระยอง ร้อยละ 52 พิษณุโลก ร้อยละ 51 และเพชรบูรณ์ ร้อยละ 50 สำหรับจังหวัดที่การสวมหมวกนิรภัยน้อยที่สุด 10 จังหวัด คือ บึงกาฬ ร้อยละ 12 นราธิวาส ร้อยละ 16 นครพนม ร้อยละ 19 ยะลา ร้อยละ 20 ยโสธร ร้อยละ 20 ปัตตานี ร้อยละ 21 ชัยภูมิ ร้อยละ 21 เลย ร้อยละ 23 หนองคาย ร้อยละ 25 และพัทลุง ร้อยละ 26

นายณัฐพงศ์ กล่าวว่า ขณะที่แบ่งตามอายุ พบว่า กลุ่มผู้ใหญ่สวมหมวกนิรภัยมากที่สุด ร้อยละ 48 ตามด้วยวัยรุ่น ร้อยละ 22 และกลุ่มเด็กที่เป็นผู้ซ้อนท้ายร้อยละ 8 สำหรับ กทม.จะค่อนข้างชัดเจนว่า ช่วงปี 2560-2561 ตำรวจมีนโยบาย กทม.เมืองต้นแบบสวมหมวกนิรภัย 100% ทำให้อัตราการสวมหมวกนิรภัยซึ่งเดิมทีสูงอยู่แล้ว ทำให้สูงยิ่งขึ้น จากปี 2560 อยู่ที่ ร้อยละ 76 เพิ่มเป็น ร้อยละ 85 ในปี 2561 เฉพาะผู้ขับขี่เพิ่มเป็นร้อยละ 92 คนซ้อนเพิ่มเป็นร้อยละ 55 เมื่อพิจารณาตามรายเขต พบว่า เกือบทุกเขตสวมหมวกนิรภัยมากกว่าร้อยละ 80 โดยเขตธนบุรีมีการสวมหมวกนิรภัยมากที่สุดถึงร้อยละ 100 แม้กระทั่งผู้โดยสารยังสวมหมวกนิรภัยสูงถึงร้อยละ 99 โดยพบว่าไม่มีเขตไหนสวมหมวกนิรภัยลดลงเลย อย่างเขตหนองจอกสวมเพิ่มขึ้น 30% เขตบางคอแหลมสวมเพิ่มขึ้น 32% ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะนำมาใช้ถอดบทเรียนได้ว่า แต่ละพื้นที่เหตุใดจึงมีการอัตราการสวมหมวกเพิ่มขึ้น รวมถึงพื้นที่ไหนจะต้องทำงานอะไรเพิ่มเติมบ้าง

ทั้งนี้ ภายในงานยังมีการมอบรางวัลให้แก่จังหวัดที่สามารถเพิ่มอัตราการสวมหมวกนิรภัยช่วง 3 ปีย้อนหลังได้สูงสุด 3 อันดับของ 4 ภาค รวม 12 รางวัล และรางวัลเพิ่มอัตราการสวมหมวกกันน็อกในเขตชุมชนเมือง รวม 4 ภาค 4 รางวัล เขตชุมชนชนบท 4 ภาค 4 รางวัล และจังหวัดที่เพิ่มอัตราการสวมหมวกของคนซ้อนท้ายได้มากที่สุดอีก 1 รางวัล คือ กทม. รวมทั้งหมด 21 รางวัล







กำลังโหลดความคิดเห็น