xs
xsm
sm
md
lg

อย่าทำ 8 พฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุช่วงเดินทางปีใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สธ. เตือน 8 พฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุช่วงปีใหม่ แนะขับรถระยะทางไกล ต้องหยุดพักทุก 2 ชั่วโมง หรือรถติดใช้เวลานาน รู้สึกเมื่อย ง่วง เครียด ให้หยุดพักรถบ่อยๆ ยืดเส้นยืดสาย พร้อมเตรียมยาประจำตัวเด็กและผู้สูงอายุให้พร้อม

วันนี้ (29 ธ.ค.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ช่วงเทศกาลปีใหม่ ประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยว ทำให้สถานที่ต่างๆ แออัด มีคนอยู่รวมกันจำนวนมาก ใช้เวลาเดินทางนานกว่าปกติ รวมทั้งสภาพภูมิกาศเปลี่ยนแปลง ทำให้กลุ่มเปราะบาง ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้มีโรคประจำตัว ร่างกายอาจอ่อนเพลีย ปรับตัวไม่ทัน อาจป่วยได้ง่าย โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หอบหืด เป็นต้น ทั้งนี้ ขอให้ดูแลความอบอุ่นของร่างกาย สวมเสื้อผ้าให้ความอบอุ่นอย่างเพียงพอ สำหรับเด็กเล็ก ระบบภูมิคุ้มกันยังไม่สมบูรณ์ จะมีโอกาสรับเชื้อโรคมากขึ้น ขอให้หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด โดยเฉพาะห้องแอร์ หรือ บริเวณที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงได้รับเชื้อโรคติดต่อทางละอองฝอยจากการไอหรือจาม รวมทั้งโรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหารจากการรับประทานอาหารนอกบ้าน

“ขอให้วางแผนการเดินทาง เตรียมยาประจำตัวทั้งของผู้สูงอายุและเด็กเล็ก หากเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวระยะทางไกลควรหยุดพักทุก 2 ชม. เพื่อลดความเครียดจากการอุดอู้ที่ต้องอยู่ในยานพาหนะเป็นเวลานาน ควรล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหาร และหลังจากทำกิจกรรมต่างๆ นอกจากนี้ ควรเตรียมยาสามัญประจำบ้าน เช่น ยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก ยาแก้แพ้ ปรอทวัดไข้ ยาทาแก้แมลงสัตว์กัดต่อย ทั้งนี้ หากเจ็บป่วย มีไข้สูง ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไกล พักผ่อนอยู่ที่บ้าน เช็ดตัวบ่อยๆ หากกินยาลดไข้แล้วไม่ดีขึ้นภายใน 1- 2 วัน ขอให้ไปพบแพทย์ แต่หากเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตขณะเดินทางขอให้ไปพบแพทย์โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หรือ โทร. 1669” นพ.สุขุม กล่าว

นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองปลัด สธ. กล่าวถึงการเดินทางช่วงเทศกาลปีใหม่ ว่า ผู้ขับขี่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ขอให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ควรเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุจราจร 8 ประการ ได้แก่ 1. ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด 2. กินยาที่ทำให้เกิดอาการง่วง เช่น ยาแก้แพ้ยาลดน้ำมูก ยาแก้ไอ ยาคลายเครียด ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาแก้ไข้หวัด เป็นต้น 3. นั่งชิดพวงมาลัยมากเกินไป จะทำให้ข้อศอกงอกว่าปกติ หมุนพวงมาลัยไม่คล่อง อาจบาดเจ็บจากการกระแทกกับพวงมาลัย และแรงระเบิดจากถุงลมนิรภัย 4. การปรับเบาะให้เอนมากเกินไป ทำให้การควบคุมพวงมาลัยไม่คล่องตัว ขาดความฉับไวและความแม่นยำ การมองกระจกมองหลังและมองข้างต้องเบนแนวสายตามากกว่าปกติ เกิดการเมื่อยล้า

5. จับพวงมาลัยตามความสบายของตัวเอง ควรจับพวงมาลัยให้ถูกต้อง คือ มือซ้ายจับที่ตำแหน่ง 9-10 นาฬิกา มือขวาที่ตำแหน่ง 2-3 นาฬิกา และจับทั้ง 2 มือเสมอ 6. ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นคนขับจะพุ่งเข้าหาพวงมาลัย หรือ กระจกหน้ารถยนต์ 7. การฟังเพลงดังๆ ในรถ หรือใส่หูฟัง จะทำให้ไม่ได้ยินเสียงผิดปกติ หรือเสียงจากภายนอกรถ 8. การเล่นโทรศัพท์ ไลน์ โซเชียลขณะขับรถ เพราะการละสายตาจากถนนแม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ เพียงไม่กี่วินาที ก็ทำให้เสียสมาธิในการขับขี่เช่น เหยียบเบรก หรือ หักพวงมาลัยช้าลง

ทั้งนี้ การขับรถระยะทางไกล หรือรถติดใช้เวลาขับรถนานกว่าปกติ อาจเกิดอาการเมื่อยล้า ง่วงนอน และเกิดความเครียดได้ ขอแนะนำผู้ขับควรหยุดพักรถเป็นระยะ หรือทุก 2 ชั่วโมง และลงจากรถเพื่อยืดเส้นยืดสาย ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ หรือยืดเหยียดกล้ามเนื้อหลังพวงมาลัย โดยหยุดพักรถในจุดที่ปลอดภัยแล้วเลื่อนเบาะให้ห่างพวงมาลัย และปฏิบัติดังนี้ ให้ทำตัวผ่อนคลาย สูดหายใจเข้า ท่าที่ 1 ประสานมือ ท่ายกมือไหว้แต่หักนิ้วมือลงมาประสานกัน ไว้ระดับอก หน้ามองตรง

ท่าที่ 2 เหยียดแขนพร้อมดัดฝ่ามือไปทางซ้ายให้สุดแขน ลำตัวตรง หน้าตรง แขนตึง กลั้นลมหายใจ จากนั้นผ่อนลมหายใจออก งอแขนกลับมาไว้ระดับอก ท่าที่ 3 เหยียดแขนพร้อมดัดฝ่ามือไปทางขวาให้สุดแขน ลำตัวตรง หน้าตรง แขนตึง กลั้นลมหายใจ จากนั้นผ่อนลมหายใจออก งอแขนกลับมาไว้ระดับอก ทำซ้ำ 5-10 ครั้ง จะช่วยผ่อนคลายอาการปวดเมื่อย คลายเครียดได้ นอกจากนี้ ควรพกยาหอม ยาหม่อง เพื่อแก้วิงเวียนศีรษะ ถ้าหิวน้ำแนะนำให้ดื่มน้ำสมุนไพร อาทิ น้ำกระเจี๊ยบที่ให้วิตามินเอสูง ช่วยบำรุงสายตา น้ำอัญชันมะนาวช่วยบำรุงสายตาทำให้ตาสว่าง และน้ำใบเตยลดการกระหายน้ำ ทำให้ชุ่มชื่น บำรุงหัวใจ เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น