xs
xsm
sm
md
lg

5 มิติความปลอดภัยของเด็ก เริ่มสร้างได้ “โรงเรียน”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


โดย เกศกาญจน์ บุญเพ็ญ

ภาพเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับความปลอดภัยและสวัสดิภาพของนักเรียนปรากฎให้เห็นอยู่บ่อยครั้งจากสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข่าวอุบัติเหตุุจากรถรับส่ง-นักเรียน บางกรณีก็เป็นอันตรายที่เกิดขึ้นภายในรั้วโรงเรียน ด้วยสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ล่าสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เหตุการณ์นักเรียนหญิงชั้นมัธยมปลายของ โรงเรียนแห่งหนึ่งในย่านลาดพร้าว ถูกรถจักรยานยนต์ชนทั้งๆที่เดินบนฟุตบาท จนได้รับบาดเจ็บ เรียกเสียงวิจารณ์อย่างหนักในโลกออนไลน์ แม้กฎหมายจะกำหนดมาตรการลงโทษแต่เหตุการณ์นี้ก็สะท้อนให้เห็นแล้วว่า คนยังขาดความตระหนักรู้ ขาดสามัญสำนึก..

คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) หยิบยกประเด็น “ความปลอดภัยในโรงเรียน” หรือ School Safety เป็นส่วนประกอบสำคัญในการปฏิรูปการศึกษา ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธาน กอปศ.อธิบายว่า กอปศ.ได้พิจารณาแล้วเห็นตรงกันว่าในการปฏิรูปการศึกษา เป้าหมายคือการให้การศึกษาและผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ซึ่งจะให้ความสำคัญแค่ด้านวิชาการอาจไม่เพียงพอ แต่ต้องมุ่งที่ผลสัมฤทธิ์ด้านอื่นๆประกอบด้วย โดยเฉพาะ “ความปลอดภัยในโรงเรียน” ซึ่งกอปศ.ได้มีศึกษาวิจัยแบ่งออกเป็น 5 มิติ ได้แก่ 1.อุบัติเหตุ ทั้งกายภายภาพ สิ่งแวดล้อม เช่น การเดินทาง เครื่องเล่นที่ไม่สมบูรณ์ที่เกิดเหตุตลอดเวลา อาคารเรียน ฯลฯ 2.ความรุนแรงในโรงเรียนทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่จะเป็นการทะเลาะวิวาทระหว่างนักเรียน ความรุนแรงในโลกโซเชียล และความรุนแรงระหว่างครูและเด็ก ความรุนแรงจากบุคคลในครอบครัว 3.มลพิษ จากทางอากาศ ทางเสียง สภาพแวดล้อมที่ตั้งของโรงเรียน 4.สิ่งปนเปื้อน ในอาหาร อุปกรณ์เครื่องใช้ ของเล่น และ5.ภัยพิบัติ จากโรคติดในโรงเรียน จากภัยธรรมชาติ

การปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกเริ่มต้นได้ที่ “โรงเรียน” ประธาน กอปศ.กล่าวด้วยว่า ความไม่ปลอดภัยในสถานศึกษามีปรากฏในสถานการณ์ต่างๆ เหล่านี้ ส่งผลกระทบต่อชีวิต สวัสดิภาพทั้งร่างกาย และจิตใจของนักเรียน/นักศึกษา นำมาซึ่งความสูญเสียและถึงจะมีการกำหนดมาตรการต่างๆออกมาป้องกันแต่ก็ยังพบเหตุการณ์เกิดขึ้นแต่ก็ยังเกิดขึ้น จำเป็นต้องหามาตรการ ปรับปรุงกลไกที่มีอยู่ให้ชัดเจนขึ้น ซึ่งในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. มาตรา 45 ระบุว่า ให้สถานศึกษาจัดให้มีบริการเพื่อสนับสนุนการจัดการศึกษา ซึ่งในวรรคที่ 2 เรื่อง “ระบบความปลอดภัยในสถานศึกษาและระบบสวัสดิภาพในสถานศึกษา” ยังมีวรรคที่ 3 ระบบขนส่งหรือที่พักเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เรียนในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบของสถานศึกษาที่อยู่ห่างไกลที่ตั้งของสถานศึกษาหรือระหว่างสถานศึกษาที่มีการจัดการศึกษาร่วมกัน ขณะที่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 กำหนดไว้ชัดเจนเรื่อง คุณธรรม จริยธรรม การสร้างอุปนิสัยที่ถูกต้องเพื่อให้เกิดสังคมที่ดี ดังนั้น สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นกับผู้เรียนได้ต้องอาศัยการสร้างที่เกิดจากโรงเรียน

“การตั้งเป้าหมายความปลอดภัยในสถานศึกษาจึงมุ่ง 2 ประเด็น คือ ความปลอดภัยจริงที่เกิดขึ้น และการบ่มเพาะให้เกิดอุปนิสัยหรือพฤติกรรมที่ถูกต้องของผู้เรียน เป็นการสร้างความสามารถในการดำรงชีวิต หรือการศึกษาเพื่อการดำรงชีวิต ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ กอปศ.ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง อาทิ นักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง/องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารสถานศึกษา องค์กรอื่นๆ เพื่อนำไปกำหนดไว้ในแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ในด้านสังคมเป็นประเด็นหนึ่งที่สำคัญการปฏิรูปการศึกษา”ศ.นพ.จรัส กล่าว

ขณะที่ นายธีร์ ภวังคนันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาการแนะแนว ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน (ฉก.ชน.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า การดูแลและคุ้มครองเด็กนักเรียนให้มีความปลอดภัย ต้องอาศัยความเข้าใจการสั่งสมประสบการณ์ เพราะในหลายเหตุการณ์เด็กเผชิญเหตุแตกต่างกัน การรับมือให้การช่วยเหลือก็มีวิธีการที่แตกต่างกัน ที่ผ่านมา สพฐ.ได้มีโอกาสเสนอแนวทางการดำเนินการเรื่อง ระบบความปลอดภัยในสถานศึกษา ไว้ 4 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นแรก ควรจัดการองค์ความรู้ในการดูแลความปลอดภัยนักเรียน ให้กับข้าราชการครูบรรจุใหม่และต้องเพิ่มเรื่องดังกล่าวไว้ในหลักสูตรการอบรมผู้บริหารสถานศึกษา และหน่วยงานทางการศึกษาทุกระดับ ประเด็นที่ 2.กำหนดให้มีตำแหน่งข้าราชการที่ปฏิบัติงานในหนาที่ “นักจิตวิทยาโรงเรียน” ในสัดส่วนที่เหมาะสม เช่น ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพฐ.) กลุ่มโรงเรียน ในโรงเรียนขนาดใหญ่ เพื่อช่วยให้ครูสามารถดูแลนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งขณะนี้ในหลายโรงเรียนที่มีความพร้อมก็ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อจ้างนักจิตวิทยาโรงเรียนแล้ว

นายธีร์ กล่าวอีกว่า ประเด็นที่ 3.จัดกลไก/หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการดูแลระบบความปลอดภัยในสถานศึกษาทุกระดับ ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอให้มีหน่วยงานระดับกรมในสังกัดสำนักงานปลัด ศธ. ขณะที่องค์กรหลักอื่นๆ เช่นก็มีกลุ่มงานขึ้นทำงานเพื่อการบูรณาการร่วมกัน หรือในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีกองการศึกษา ก็เพิ่มส่วนงานที่ดูแลเรื่องความปลอดภัยโดยเฉพาะ ทั้งนี้เพื่อให้มีเจ้าภาพประจำและสะสมประสบการณ์ในการช่วยเหลือและดูแลความปลอดภัยให้แก่นักเรียน และประเด็นสุดท้าย เสนอให้มีการยกร่างกฎกระทรวงเรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษาคู่ขนานกับการ ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ..เพื่อให้มีความสอดคล้องกัน เพราะที่ผ่านมาการทำงานการดูแลความปลอดภัยในสถานศึกษา หรือการดูแลผู้เรียน จะดำเนินการตาม “แนวทางปฏิบัติและมาตรการรักษาความปลอดภัยของสถานศึกษา” เท่านั้น แต่หากกำหนดเป็นกฎหมายให้มีการบังคับใช้ ซึ่งขณะนี้ สพฐ.กำลังอยู่ระหว่างยกร่างและเสนอให้ผู้เกี่ยวข้องพิจารณาด้วย

ฟากสารวัตรนักเรียนโรงเรียนชิโนรสวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร นายทศพร ปิ่นทอง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 สะท้อนความเห็นในโอกาสเข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็น ว่า ส่วนตัวมองว่าปัจจุบันด้วยสภาพแวดล้อมต่างๆที่เปลี่ยนไป เทคโนโลยีต่างๆที่พัฒนามากขึ้นเป็นสิ่งเร้าที่ทำให้เด็กเข้าไปสู่สถานการณ์ หรือความเสี่ยงที่ทำให้เกิดอันตรายกับตนเองได้ ซึ่งปัญหาสำคัญของเด็กส่วนใหญ่ยังเป็นเรื่องของการโดดเรียน การขับขี่รถจักรยานยนต์ การสูบบุหรี่ หรือไปยุ่งเกี่ยวกับสารเสพติด ถึงแม้จะพยายามแก้ไขแต่ก็ยังมีอยู่ โดยสภาพแวดล้อมล้อมของโรงเรียนก็มีความสำคัญ อาคารเรียนในบางจุดที่เป็นมุมอับ หรือในห้องน้ำก็จะเป็นจุดที่เด็กๆจะแอบไปรวมตัวมั่วสุม ยังมีพื้นที่อื่นบริเวณรอบๆภายนอกของโรงเรียนด้วย

“ปกติทุกวันผมและเพื่อนสารวัตนักเรียนก็ต้องเดินตรวจรอบๆโรงเรียน ทั้งเช้าและเย็น ถ้าเจอเพื่อนๆที่แอบไปรวมกลุ่มก็ต้องแจ้งครูฝ่ายปกครองมาดูแล ซึ่งปัญหาที่ผมสะท้อนเป็นเรื่องใหญ่ของเด็กๆ และยังมีอยู่ในโรงเรียนต่างๆ จากที่ผมได้มีโอกาสคุยกับเพื่อนๆหลายคน จึงผมอยากเสนอให้มีการแก้ไขอย่างจริงจัง ให้ร่วมกันตรวจตราจุดอับ จุดเสี่ยง ช่วยกันสร้างสิ่งแวดล้อมดีๆ ดึงเด็กออกมาทำกิจกรรมและเอาใจใส่เด็กให้มากขึ้น”นายทศพร กล่าว.


กำลังโหลดความคิดเห็น