เปิดหลักเกณฑ์ 5 กม.ลูก “พ.ร.บ.นมผง” เผยทำฉลาก “นมผงทารก” ต้องระบุชัด ทั้งจำนวนและค่าใช้จ่ายต่อเดือน ให้ข้อมูลบุคลากรสาธารณสุข ต้องโชว์หลักฐานวิทยาศาสตร์ฉบับเต็ม ให้สิ่งของบุคลากรได้ตามประเพณี ไม่มีเงื่อนไข ไม่เกิน 3 พันบาท ไม่โชว์ตราสัญลักษณ์ หนุนจัดประชุมสัมมนาได้ แต่ห้ามส่งเสริมการตลาด และเกณฑ์การบริจาคอาหารทารกและเด็กเล็กแก่สถานพยาบาล
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า หลังจากบังคับใช้ พ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560 หรือ พ.ร.บ. นมผง ตั้งแต่วันที่ 8 ก.ย. 2560 แต่ก็ต้องมีการออกกฎหมายลำดับรอง หรือกฎหมายลูกมารองรับ หรือเป็นหลักเกณฑ์ในการดำเนินงาน ควบคุม อาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก เพื่อส่งเสริมให้เกิดการกินนมแม่มากที่สุด ซึ่งกฎหมายลูกมีทั้งหมด 10 ฉบับ และออกมาแล้วครบทั้งหมด คือ 1.การแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 2.การแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ 3.กำหนดแบบบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ 4.การจัดทําข้อมูลเกี่ยวกับอาหารสําหรับทารก 5.การให้ข้อมูลอาหารสำหรับทารก อาหารสำหรับเด็กเล็ก และอาหารเสริมสําหรับทารก แก่บุคลากรด้านสาธารณสุข 6.การให้ตามประเพณีแก่บุคลากรด้านสาธารณสุข 7.การสนับสนุนองค์กรวิชาชีพด้านสาธารณสุขและสถาบันอุดมศึกษาที่สอนเกี่ยวกับสุขภาพแม่และเด็ก จัดประชุม อบรม สัมมนา เกี่ยวกับอาหารสำหรับทารกอาหารสำหรับเด็กเล็ก และอาหารเสริมสำหรับทารก 8.การบริจาคอาหารสำหรับทารก อาหารสำหรับเด็กเล็ก แก่หน่วยบริการสาธารณสุข 9.การทําลายเอกสาร สื่อโฆษณา ที่ได้ยึดหรืออายัด และ 10.หลักเกณฑ์การเปรียบเทียบปรับ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประเด็นที่น่าสนใจของประกาศกฎหมายลูกดังกล่าว คือ 1.ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข รายละเอียดการจัดทําข้อมูล และช่องทางในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาหารสําหรับทารก พ.ศ. 2561 กำหนดให้ผู้ผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ต้องแสดงปริมาณในการใช้อาหารสำหรับทารกและข้อมูลค่าใช้จ่าย โดยทารกอายุแรกเกิดถึง 3 เดือน ต้องใช้นมผงเฉลี่ย 2.7 กิโลกรัมต่อเดือน ส่วนทารก 3-6 เดือน ต้องใช้นมผงเฉลี่ย 4.5 กิโลกรัมต่อเดือน ดังนั้น นมผง 1 บรรจุภัณฑ์ (กล่อง/กระป๋อง) มีปริมาณเท่านี้กิโลกรัม จะต้องใช้ผลิตภัณฑ์กี่บรรจุภัณฑ์ต่อเดือนและใช้เงินเป็นจำนวนเท่าไรต่อเดือน ต้องระบุทั้งหมดลงในฉลาก และต้องมีข้อควรระวังจากการเตรียมหรือการใช้อาหารสําหรับทารก
2.ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้ประกอบการให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาหารสําหรับทารก อาหารสําหรับเด็กเล็ก หรืออาหารเสริมสําหรับทารก แก่บุคลากรด้านสาธารณสุข พ.ศ. 2561 กำหนดให้ การให้ข้อมูลแก่บุคลากรสาธารณสุข ต้องมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ ซึ่งมาจากแหล่งข้อมูล คือ บทความที่ตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการหรือตํารา โดยเป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติ หรือที่มีการประเมินโดยผู้ทรงคุณวุฒิในสาขานั้นๆ หรือรายงานหรือแนวปฏิบัติของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง โดยการอ้างอิงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ต้องจัดทําข้อมูลเสนอแก่บุคลากรด้านสาธารณสุขทุกครั้งแบบฉบับเต็ม (Full paper)
3.ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการให้ ตามประเพณีหรือธรรมจรรยาแก่บุคลากรด้านสาธารณสุข พ.ศ.2561 กำหนดชัดว่า ห้ามผู้ผลิต ผู้นําเข้า หรือผู้จําหน่าย หรือตัวแทน ให้หรือเสนอว่าจะให้ของขวัญ เงิน สิ่งจูงใจ หรือประโยชน์อื่นใดแก่บุคลากรด้านสาธารณสุข เว้นแต่เป็นกรณีการให้ตามประเพณีหรือธรรมจรรยา ซึ่งหมายถึงการให้กันในโอกาสต่างๆ โดยปกติตามประเพณีหรือวัฒนธรรม โดยต้องมีราคาหรือมูลค่าไม่เกิน 3 พันบาทในแต่ละโอกาส เป็นการให้ในลักษณะให้กับบุคคลทั่วไป เป็นการให้ในลักษณะให้เปล่า โดยไม่มีเงื่อนไขว่าจะต้องทำการใดตอบแทน และสิ่งของที่ให้ต้องไม่มีชื่อ ตรา หรือสัญลักษณ์ที่สื่อให้เกิดความเชื่อมโยงกับอาหารสําหรับทารก อาหารสําหรับเด็กเล็ก หรืออาหารเสริมสําหรับทารก
4.ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการสนับสนุนองค์กรวิชาชีพด้านสาธารณสุข และสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่มีการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพแม่และเด็ก ในการจัดประชุม อบรม หรือสัมมนาด้านวิชาการเกี่ยวกับอาหารสําหรับทารก อาหารสําหรับเด็กเล็ก หรืออาหารเสริมสําหรับทารก พ.ศ. 2561 กำหนดให้การสนับสนุนการจัดประชุม ต้องไม่มีเงื่อนไขผูกมัด เพื่อการส่งเสริมการตลาด โฆษณาหรือมีการเชื่อมโยงถึงชื่อ ตรา หรือสัญลักษณ์อื่นๆ ของผลิตภัณฑ์ สามารถสนับสนุนเงินเพื่อใช้ในการจัดทําสิ่งของ อุปกรณ์ประกอบการประชุม และค่าใช้จ่ายของวิทยากรตามความเหมาะสมและจําเป็นได้ การสนับสนุนการไปประชุมของบุคลากรด้านสาธารณสุขโดยผ่านองค์กรวิชาชีพหรือสถาบันอุดมศึกษาที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพแม่และเด็ก สามารถสนับสนุนได้เฉพาะค่าเดินทาง ค่าลงทะเบียน ค่าอาหาร และค่าที่พักสําหรับเฉพาะตัวบุคลากรและจํากัดเฉพาะช่วงเวลาของการประชุม
และ 5.ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการบริจาคอาหารสําหรับทารกหรืออาหารสําหรับเด็กเล็กที่มีวัตถุประสงค์พิเศษและการบริจาคในกรณีจําเป็นแก่หน่วยบริการสาธารณสุข พ.ศ. 2561 ที่กำหนดให้การบริจาคอาหารสำหรับทารกหรืออาหารสำหรับเด็กเล็กแก่สถานพยาบาล สามารถบริจาคให้สถานพยาบาลที่มีทารกหรือเด็กเล็กซึ่งเป็นผู้ป่วยเฉพาะโรคพันธุกรรมเมตาบอลิก แพ้โปรตีนนมวัวรุนแรง ลําไส้ล้มเหลวทุพโภชนาการระดับสาม (รุนแรง) ภาวะการดูดซึมไขมันบกพร่อง หรือทารกเกิดก่อนกําหนดที่ต้องได้รับอาหารเสริมนมแม่สําหรับทารกเกิดก่อนกําหนดกรณีจําเป็น สามารถบริจาคให้แก่องค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากําไรและดําเนินกิจกรรมด้านแม่และเด็กที่มีทารกซึ่งเป็นกําพร้า ถูกทอดทิ้ง หรือทารกที่แม่ได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์ว่าไม่สามารถให้นมบุตรได้