มูลนิธิหยุดพนัน ค้านพิมพ์ลอตเตอรี่เพิ่มอีก 7 ล้านชุด เป็น 87 ล้านชุด ชี้ไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจริง แต่ดูดซับสภาพคล่องครัวเรือนไปกับการเสี่ยงโชค เผยคนไทยซื้อสลากเฉลี่ยคนละ 4 ใบ ดูดเงิน ปชช.เฉลี่ยคนละ 9,600 บาทต่อปี ยิ่งเพิ่มหวยยิ่งมอมเมาคนติดพนัน แนะรับผิดชอบจ่ายภาษีคืนในรูปแบบกองทุน
วันนี้ (6 ส.ค.) นายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล มีมติปรับเพดานพิมพ์สลากต่องวดจาก 80 ล้านฉบับ เพิ่มเป็น 87 ล้านฉบับ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2561 เป็นต้นไปว่า ที่ผ่านมาสังคมถูกทำให้เข้าใจผิดว่าการซื้อสลากคือการช่วยชาติ อุดหนุนให้รัฐบาลมีเงินพัฒนาประเทศ แต่จริงๆ แล้วการซื้อสลากไม่ได้ช่วยชาติ เพราะภาวะเศรษฐกิจนอกจากจะขับเคลื่อนด้วยการลงทุนของภาคเอกชนและการใช้จ่ายของภาครัฐแล้วยังขับเคลื่อนด้วยการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน การที่รัฐบาลพิมพ์สลากเพิ่มเท่ากับเป็นการดูดซับสภาพคล่องจากภาคครัวเรือน เพราะแทนที่ประชาชนจะมีเงินจับจ่ายใช้สอยในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น กลับนำเงินไปซื้อสลากซึ่งมีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจน้อยมาก มีเพียงผู้ขายสลากจำนวนหลักหมื่นคนเท่านั้นที่มีรายได้เพิ่ม ขณะที่ภาคครัวเรือนที่เป็นคนส่วนมาก กลับถูกกระตุ้นให้นำเงินไปใช้กับการเสี่ยงโชค
“การแก้ปัญหาสลากแพงด้วยวิธีพิมพ์เพิ่ม ได้กระตุ้นให้คนไทยมีค่านิยมเสี่ยงโชคมากขึ้น จากผลสำรวจของศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า คนไทยนิยมซื้อสลากกินแบ่งฯ ถึง 21 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก2ปีก่อนกว่า 2ล้านคน เฉลี่ยแล้ว 1คนจะซื้อสลากคนละ4ใบ สมมติว่าซื้อในราคาใบละ 100 บาท เท่ากับว่ารัฐบาลได้ทำการดูดเงินจากกระเป๋าประชาชนคนละ 800 บาทต่อเดือนหรือ 9,600 บาทต่อปี และมีโอกาสถูกรางวัลน้อยมาก ขณะที่รัฐได้ประโยชน์จากการกินส่วนแบ่ง 20% จนกลายเป็นกิจการอันดับหนึ่งที่นำส่งเงินเข้าคลัง แม้รัฐจะอ้างว่าเงินจำนวนนี้ถูกนำมาพัฒนาประเทศ ซึ่งเป็นเพียงทางอ้อมเท่านั้น และไม่แน่ใจว่าจะมีประสิทธิภาพหรือไม่ แต่เท่าที่รู้มันเกิดผลกระทบกับสภาพคล่องของเศรษฐกิจฐานล่างที่หายไป” เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนันกล่าว
นายณัฐพงศ์ สำเภาแก้ว ผู้ประสานงานเครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน กล่าวว่า ถึงสลากเป็นสิ่งถูกกฎหมาย แต่ก็เป็นการพนัน การพิมพ์สลากเพิ่มนอกจากจะดูดเงินจากกระเป๋าพ่อแม่แล้วยังเป็นการกระตุ้นให้เยาวชนหันมาสนใจซื้อสลากเพิ่มขึ้นด้วย จากผลสำรวจล่าสุดของศูนย์ศึกษาปัญหาการพนันพบว่า มีเยาวชนอายุ 15-25 ปี ถึง 2.085 ล้านคนซื้อสลาก ทั้งๆ ที่ คสช.มีคำสั่งห้ามจำหน่ายสลากแก่เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี นับได้ว่ากิจการของรัฐสนับสนุนค่านิยมเสี่ยงโชคแก่เด็กและเยาชนด้วย ทั้งนี้ คงเป็นการยากที่จะคัดค้านการพิมพ์สลากฯเพิ่ม เพราะดูเหมือนเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดที่รัฐบาลจะหารายได้เพิ่มด้วยการพนัน ฉะนั้น สิ่งที่อยากเรียกร้อง คือ ความรับผิดชอบต่อสังคม ที่ไม่ใช่แค่การเอาเงินสำนักงานสลากฯ มาบริจาคสร้างโรงเรียน สร้างวัด สร้างโรงพยาบาล แต่ต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบที่รัฐสร้างขึ้น นั่นคือจ่ายภาษีคืนสังคมในรูปของกองทุนลดผลกระทบจากการพนัน ที่ต้องถูกนำมาใช้สนับสนุนกระบวนการทำงานด้านนี้อย่างจริงจัง ซึ่งสังคมอาจไม่รู้ว่ากองทุนนี้มีอยู่แล้วตามคำสั่ง คสช.ในการแก้ปัญหาสลาก แต่ที่ผ่านมาถูกนำมาใช้ตามวัตถุประสงค์น้อยมาก แม้กระทั่งช่วงฟุตบอลโลกที่ผ่านมา
นายราเมศร ศรีทับทิม ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนปฏิรูปสลาก กล่าวว่า ปีนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 ของการพิมพ์สลากเพิ่ม ด้วยข้ออ้างสลากไม่พอขาย ทั้งๆ ที่เคยบอกว่าหาจุดสมดุลของตลาดเจอแล้วที่ 80 ล้านใบ นี่อาจเป็นเพราะประชาพิจารณ์เรื่องหวยชุดล่ม ยังออกหวยชุดไม่ได้ จึงหันมาใช้วิธีพิมพ์สลากเพิ่ม ทั้งที่เป็นวิธีที่ล้มเหลวมาตลอด รัฐเพียงต้องการได้เงินเพิ่มด้วยวิธีการมอมเมาประชาชนอย่างชอบธรรม การแก้ปัญหาสลากแพงด้วยวิธีพิมพ์สลากเพิ่มน่าจะถึงทางตันแล้ว เพราะยิ่งพิมพ์เพิ่ม ยิ่งทำให้หวยชุดมีมากขึ้น และเกิดแรงกระตุ้นให้คนเสียเงินซื้อสลากมากขึ้น เข้าใจว่าทางสำนักงานสลากเตรียมแผนอื่นไว้แล้ว รวมทั้งเรื่องออนไลน์ น่าจะถึงเวลาพูดคุยเพื่อหาทางออกกันอย่างจริงจังได้แล้ว ไม่ควรเลี้ยงไข้ไว้แล้วใช้วิธีการตีเนียนหารายได้เพิ่มเข้าตัวเองแบบนี้