xs
xsm
sm
md
lg

ชงคลอดมาตรการเที่ยว “ถ้ำ” ต้องสวมหมวก แว่น หน้ากากอนามัย ป้องกันเชื้อ ทีมถ้ำหลวงเฝ้าระวังอีกปีครึ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ยังต้องติดตามอีกปีครึ่ง “ทีมหมูป่า” และคนที่เกี่ยวข้องพื้นที่ถ้ำหลวง ห่วง 1% เชื้อแฝงในระบบร่างกาย พร้อมเสนอแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ เพิ่มมาตรการความปลอดภัยด้านสุขภาพป้องกันโรค ชี้ เข้าถ้ำต้องสวมหมวก แว่น หน้ากากอนามัย ตามหลักสากล

วันนี้ (3 ส.ค.) เมื่อเวลา 13.30 น. ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ในงานเสวนาวิชาการ เรื่อง “ถ้ำหลวง : ความพร้อมรับมือโรคอุบัติใหม่” จัดโดยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รพ.จุฬาลงกรณ์ โดย ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ รพ.จุฬาฯ กล่าวว่า ภายในเป็นพื้นที่ที่มีการปะปนของเชื้อโรค ทั้งจากสิ่งแวดล้อมภายในถ้ำ เช่น น้ำ ผนังถ้ำ ละอองฝอยต่างๆ และสิ่งมีชีวิตที่ครองโรค เช่น ค้างคาว แมลงต่างๆ เป็นต้น โดยความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อโรคอยู่ที่ระยะเวลาและกิจกรรมที่ทำ ว่า มีความเข้มข้นมากน้อยแค่ไหน สำหรับการตรวจเชื้อโรคอุบัติใหม่ให้แก่ทีมหมูป่าอะคาเดมี ที่ติดอยู่ภายในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย นั้น ซึ่งผลออกมาแล้วพบว่าไม่พบเชื้อที่เคยเจอในมนุษย์ และที่ยังไม่เคยเจอในมนุษย์มาก่อน ซึ่งมีความมั่นใจร้อยละ 99 ว่า ไม่มีโรคแล้ว แต่ก็ต้องติดตามต่อเนื่อง เพราะมีโอกาสที่เชื้อเข้าไปในร่างกายและ แต่ร่างกายไม่สมยอมต่อเชื้อ ทำให้ไม่มีการแสดงอาการ แต่เชื้ออาจยังแฝงอยู่ในระบบใดระบบหนึ่งของร่างกายได้

“ยกตัวอย่าง ที่ผ่านมา มีการติดเชื้อไวรัสนิปาห์ โดยพบว่าในคนที่เคยเกิดอาการป่วยแล้วหาย แต่พอผ่านไป 18-24 เดือน กลับพบว่า มีเชื้อไวรัสนิปาห์แฝงอยู่ในสมอง โดยไม่แสดงอาการอะไร หรือกรณีต่างประเทศผู้ป่วยติดเชื้ออีโบลาแล้วหาย แต่ต่อมากลับพบว่าเชื้อไปอยู่ที่ตา ส่งผลให้ตาอักเสบ เป็นต้น ดังนั้น จึงต้องมีการเฝ้าระวังทุกระบบของร่างกาย ซึ่งไม่เพียงแค่ทีมหมูป่าที่ประสบภัยเท่านั้น แม้แต่คนที่เข้าไปช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นภายในถ้ำ หน้าถ้ำ หรือคนที่เป็นจิตอาสาที่มาช่วยเหลืออยู่บริเวณโดยรอบ ก็ต้องมีการติดตาม ตามความเสี่ยง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้มอบบัตรประจำตัวให้กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องพกเอาไว้ หากวันหนึ่งเกิดแสดงอาการของโรคบางอย่างต้องมาพบแพทย์ แสดงบัตรประจำตัวและระบุว่า ครั้งหนึ่งเคยไปคลุกคลีอยู่ในพื้นที่ถ้ำหลวง ซึ่งการติดตามต้องติดตามไปอย่างน้อยปีครึ่ง” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า หลังเกิดกรณีที่ถ้ำหลวงแล้ว มีคนที่อยากจะไปเที่ยวถ้ำต่างๆ และแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติบริสุทธิ์ ทำให้เกิดกระแสการพูดขึ้นมาอีกครั้ง ว่า ควรจะมีมาตรการป้องกันอะไรหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาก็เคยมีการพูดถึง แต่พื้นที่ท่องเที่ยวหรือหน่วยงานที่ดูแลอาจไม่เข้าใจ เพราะกลัวว่าจะกระทบหรือขัดขวางความเจริญในการท่องเที่ยว แต่จริงๆ แล้วการไปท่องเที่ยวธรรมชาติบริสุทธิ์ ควรจะมีมาตรการในการป้องกนนักท่องเที่ยวไม่ให้ติดโรค ซึ่งก่อนหน้านี้ ทางกระทรวงกลาโหม และ แอฟริม (Afrims Us-Lab) ได้มีการศึกษาแมลง เห็บ หมัด ไร ริ้น ที่ก่อโรคตามตะเข็บชายแดน ว่า พื้นที่ไหน เวลาใด มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ หากเราเอามาปรับรับกับการท่องเที่ยวได้ก็จะเป็นประโยชน์ในการดูแลตัวเอง

น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน สัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ตอนนี้พบว่ามีประชาชนให้ความสนใจท่องเที่ยวภายในถ้ำมากขึ้น ดังนั้น ทางกรมอุทยานจะต้องมีการเข้าไปสำรวจภายในถ้ำต่างๆ ทั้งสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิต ว่า มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอะไรหรือไม่ นอกจากนี้ ตนจะนำเอาข้อเสนอแนะจากทีมแพทย์เกี่ยวกับเรื่องการป้องกันตนเองในการเข้าไปภายในถ้ำว่าจะต้องมีการสวมอุปกรณ์ป้องกัน อาทิ สวมหมวก สวมหน้ากาก แว่น เป็นต้น ซึ่งเป็นหลักที่สากลปฏิบัติกันนี้อยู่แล้ว ต้องเผยแพร่เรื่องนี้ให้นักท่องเที่ยวเข้าใจมากขึ้น และหน่วยงานที่ดูแลก็ต้องมีการปรับตัวเพื่อเพิ่มความปลอดภัย

นพ.โรม บัวทอง นายแพทย์เชี่ยวชาญ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศไทยได้รับคำชื่นชมมากในเรื่องของการนำตัวเด็กๆ ออกมาและการดูแลด้านการแพทย์หลังออกจากถ้ำว่าทำได้อย่างมีมาตรฐาน แต่ก็ยังมีคนตั้งคำถามว่าใช้งบประมาณมากเกินไปหรือไม่ ตนขอยืนยันว่า เรื่องการควบคุมป้องกันโรคนั้นคือสิ่งจำเป็นมาก เพราะหากละเลยที่จะป้องกันโรคจนเกิดการแพร่ระบาดแล้วจะแก้ไขอะไรไม่ได้ กระทบประเทศในทุกๆ ด้าน หากยังจำได้ก่อนหน้านีที่เคยมีการระบาดของโรคเมอร์สที่ประเทศเกาหลีใต้ เพียงแค่ 6 เดือนมีคนตาย และสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 3 พันล้านบาท แต่ประเทศไทยเราไม่ละเลย จะพบว่ามีเคสผู้ป่วยเมอร์ส เข้ามาที่ประเทศไทย 3 ราย เราก็เอาอยู่ เป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ สร้างความมั่นใจให้กับนานาชาติที่จะเดินทางเข้ามา


กำลังโหลดความคิดเห็น