รมว.แรงงาน เผย ผลจับกุมต่างด้าวผิดกฎหมาย 15 วัน จำนวน 816 ราย ผลักดันส่งกลับประเทศ ด้านนายจ้างทำผิด 156 ราย ย้ำ จนท.ตรวจต่างด้าวใช้วาจาสุภาพ นุ่มนวล
วันนี้ (17 ก.ค.) พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังประชุมสรุปผลการจัดชุดปฏิบัติการ 113 ชุด ตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าวทั่วประเทศ หลังปิดศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ 15 วัน ว่า ชุดปฏิบัติการตรวจสอบแรงงานต่างด้าว จำนวน 113 ชุด วางแผนดำเนินการ 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 วันที่ 1-15 ก.ค. ครั้งที่ 2 วันที่ 1-15 ส.ค. 2561 และครั้งที่ 3 วันที่ 1-15 ก.ย. สำหรับการตรวจสอบในครั้งแรกวันที่ 1-15 ก.ค. ตรวจสอบนายจ้าง/สถานประกอบการไปแล้ว 1,623 ราย ตรวจสอบแรงงานต่างด้าว จำนวน 30,111 คน จับกุมดำเนินคดีนายจ้าง 156 ราย ดำเนินคดีแรงงานต่างด้าว 816 คน ส่วนใหญ่เป็นพม่า 415 คน รองลงมาเป็นกัมพูชา 267 คน ลาว 78 คน เวียดนาม 36 คน และสัญชาติอื่นๆ 20 คน
พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า นายจ้างมีความผิดตาม พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ข้อหารับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ ความผิดตาม พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ข้อหาให้ที่พักพิง ซ่อนเร้น คนต่างด้าวผิดกฎหมาย และให้คนต่างด้าวเข้าพักอาศัยไม่แจ้ง ด้านแรงงานต่างด้าวมีความผิดข้อหาทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน อยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ประกอบอาชีพโดยไม่ได้รับอนุญาต และไม่แจ้งการอยู่ในราชอาณาจักรเกิน 90 วัน
“นายจ้างที่รับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิ มีโทษปรับ 10,000-100,000 บาทต่อต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี ส่วนแรงงานต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิ มีโทษปรับ 5,000-50,000 บาท เมื่อชำระค่าปรับแล้วจะถูกส่งกลับประเทศ และห้ามขออนุญาตทำงานภายใน 2 ปี และมีโทษปรับตาม พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ตามข้อหาต่างๆ ด้วย สำหรับเส้นทางผลักดันส่งกลับคือ กัมพูชาที่ จ.สระแก้ว ลาว ที่หนองคาย อุบลราชธานี และ มุกดาหาร พม่า ที่ตาก และเชียงราย” พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าว
พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า ตนได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการให้ทำหน้าที่ด้วยความนุ่มนวล ใช้วาจาสุภาพ ไม่ใช้ความรุนแรง และขอแนะนำนายจ้าง/ผู้ประกอบการ ว่า หากมีแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ ขอให้หยุดการจ้าง อย่าจ้างต่ออีกเป็นอันขาด เพราะผิดกฎหมาย ซึ่งมีโทษหนัก ดังนั้น จึงขอให้จ้างแรงงานต่างด้าวอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยเป็นแรงงานที่เข้ามาในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และมีใบอนุญาตทำงานจากกรมการจัดหางานเท่านั้น โดยเข้ามาทำงานได้ตามระบบ MOU