สั่ง “บิ๊กป้อม” ลุย! จัดหาเครื่องสแกนใบหน้า-ม่านตา เครื่องละ 1 แสน ในด่านตรวจคนเข้าเมืองทั่วประเทศ เก็บข้อมูลอัตลักษณ์ต่างด้าว เน้นตรวจสอบบุคคลที่ผ่านเข้าออกประเทศอย่างถูกต้อง-แม่นยำ-รวดเร็ว เผยนายกฯ สั่งเดินหน้าโครงการติดตั้งเครื่องตรวจพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล เป็นมติ ครม.3 ครั้ง ให้ลงทุนไบโอเมทริก หลังจากไทยได้ปรับระดับเป็นเทียร์ 2 แก้ปัญหาการละเลยหรือความอ่อนแอในการบังคับใช้กฎหมาย
วันนี้ (3 ก.ค.) แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. มีข้อสั่งการ (มติ ครม.27 ก.ค.) มอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง กำกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน ดูแลนโยบายการค้ามนุษย์ ติดตามการดำเนิน “โครงการติดตั้งเครื่องตรวจพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล” ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองทั่วประเทศ ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้แล้วเสร็จและใช้ปฏิบัติงานได้โดยเร็ว เพื่อให้การตรวจสอบบุคคลที่ผ่านเข้าออกประเทศไทยเป็นไปอย่างถูกต้อง แม่นยำ และรวดเร็วยิ่งขี้น
ก่อนหน้านั้น คสช.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมากำกับดูแลการพิสูจน์ตัวบุคคลของแรงงานต่างด้าว โดยให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน ทำงานร่วมกับอธิบดีกรมการจัดหางาน อธิบดีกรมเจ้าท่า อธิบดีกรมประมง
ทั้งนี้ เมื่อการในคราวประชุม ครม. (31 ต.ค. 2560) นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการระบุว่า ในคราวประชุม ครม. (1 ส.ค. 60) ให้ พล.อ.ประวิตรกำกับติดตามการดำเนินการของหน่วยงานต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาแรงงานผิดกฎหมายทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพและได้ผลเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เช่น ให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงคมนาคม กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการดำเนินการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์เก็บข้อมูลด้านอัตลักษณ์ (สแกนใบหน้า-ม่านตา) เพื่อใช้ประกอบการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวให้มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพมากยิ่งขั้น โดยเริ่มเก็บข้อมูล แรงงานประมงก่อนขยายไปสู่แรงงานอื่นๆ ให้ครบทุกประเภท
โดยโครงการนี้ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มีความเห็นว่า ประเทศไทยต้องมีการเก็บข้อมูลด้านไบโอเมทริก จะต้องลงทุนติดตั้งเครื่องมือในเรื่องของความมั่นคง หลังจากไทยได้ปรับระดับเป็นเทียร์ 2 (ปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์) หรือไอยูยู (การทำประมงผิดกฎหมาย) ล้วนแต่เกิดจากปัญหาการละเลยหรือความอ่อนแอในการบังคับใช้กฎหมาย
ในคราวนั้น พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่าจะใช้งบประมาณเพียง 120 ล้านบาทเท่านั้น เป็นงบประมาณเบื้องต้นในการจัดซื้อเครื่องสแกนม่านตา เพราะเครื่องอ่านราคาแพง
มีรายงานว่า ในคราวนั้นมีการเสนอ “โครงการติดตั้งเครื่องตรวจพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล” ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองทั่วประเทศ เป็น เครื่องมืออุปกรณ์เก็บข้อมูลด้านอัตลักษณ์ (สแกนใบหน้า-ม่านตา) ที่นำมาใช้กับแรงงานต่างด้าวที่ประกอบกิจการประมง และต่อเนื่องไปยังแรงงานต่างด้าวประเภทอื่นๆ ประมาณ 3.5 ล้านคน ในการออกใบอนุญาตในการทำงาน ถือเป็นทางเลือกที่ดีที่สามารถตรวจสแกนม่านตาจบในคราวเดียว เพราะมีความแม่นยำมาก แก้ปัญหานายหน้าเรียกเก็บเงิน ค่าลัดคิว จากการตรวจสอบต่างๆ และไม่ต้องมาบันทึกข้อมูลซับซ้อน เนื่องจากที่ผ่านมาเคยมีปัญหาความซ้ำซ้อนของบุคคล จากกรณีแรงงานที่มีทั้งพาสปอร์ตกับแรงงานที่มีบัตรสีชมพูกว่า 1 แสนราย
“เครื่องสแกนใบหน้า-ม่านตา มีความแม่นยำระดับ 1 ต่อ 1,500,000 แต่เครื่องสแกนละนิ้วมือมีความแม่นยำระดับ 1 ต่อ 10,000 ขณะที่หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องประเมินว่าเครื่องสแกนใบหน้า-ม่านตาจะมีมูลค่าเพียงเครื่องละ 1 แสนบาทเท่านั้น”
โดยผู้บริหารกระทรวงแรงงานยอมรับว่า กระทรวงแรงงานยังไม่มีนโยบายให้จัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์เก็บข้อมูลด้านอัตลักษณ์ (สแกนใบหน้า-ม่านตา) แต่ขึ้นอยู่กับมติของคณะกรรมการที่ คสช.แต่งตั้ง
ขณะที่กระทรวงแรงงานมีเครื่องมือเก็บข้อมูลคนต่างด้าว (ไบโอดาต้า) ที่รัฐบาลในอดีตเห็นชอบไว้ โดยกรมจัดหางานได้รับอนุมัติจัดซื้อประมาณ 500 ล้านบาท และมีข้อมูลว่าการจัดซื้อเครื่องมือดังกล่าวมีการกล่าวหาและตรวจสอบในชั้นของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจรติแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อยู่ด้วย
สำหรับเครื่องสแกนม่านตาในประเทศไทย ปัจจุบันเป็นกรมเจ้าท่าจำนวน 30 เครื่อง เครื่องละประมาณ 100,000 บาท ขณะที่กรมการจัดหางานเคยมีแผนสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมจากสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (สรอ.) เพื่อดำเนินการ
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า ที่ปรึกษาคณะทำงานของนายกฯ ได้เสนอคำศึกษาเข้ามา และได้ส่งต่อให้คณะกรรมการขับเคลื่อน ที่มี พล.อ.ประวิตรดำเนินการขับเคลื่อน โดยไม่ได้ยุ่งเกี่ยวว่าจะต้องจัดซื้อจัดจ้าง
“สิ่งสำคัญในช่วงที่ผ่านมาในยุคของนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ เป็น รมว.แรงงาน ใช้งบประมาณในการซื้ออุปกรณ์วงเงินเป็น 400 ล้านบาท แต่ไม่ใช้งาน กำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ใช้ได้-ไม่ได้ วันนี้ต้องกลับมาดูว่าทำไม่ได้แล้วจะทำอย่างไรให้ทำได้ ก็นำไปสู่การเร่งดำเนินการในขณะนี้ ใช้เครื่องมือของกรมเจ้าท่า ถ้าไม่พอกระทรวงแรงงานก็ต้องจัดหาให้ตรงตามระเบียบ ค่าใช้จ่ายไม่ได้มากมาย ระบบใหม่ข้าราชการเป็นคนทำ ไม่ได้เสียตัวเลขเป็นพันเป็นหมื่นล้าน ถ้าไม่คุมทั้งหมด คุมแต่แรงงานประมง แล้ววันหน้าไม่ควบคลุมประเภทอื่นด้วยหรือ ทำไม่ไม่คิดก้าวหน้าไปกว่านี้ ถ้าวันหน้ามีแรงงานจำนวนมากเข้ามาแล้วพิสูจน์อัตลักษณ์ไม่ได้ ข้อมูลไม่สมบูรณ์ก็มีปัญหาทางคดีความเยอะแยะ การทุจริตก็จะมีมากขึ้น การเปลี่ยนพื้นที่แรงงานก็พันกันไปหมด” พล.อ.ประยุทธ์กล่าวในครั้งนั้น
นอกจากนี้ ในช่วงเยี่ยมชมองค์การสะพานปลาสมุทรสาคร อ.มหาชัย เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ช่วงหนึ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ รับฟังการสาธิตการใช้เครื่องสแกนม่านตาเพื่อพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าว ผู้บริหารกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน รายงานว่า สาเหตุที่การขึ้นทะเบียนเป็นไปด้วยความล่าช้าเนื่องจากเครื่องสแกนม่านตามีจำนวนไม่เพียงพอ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์แสดงอารมณ์หงุดหงิด พร้อมทุบโต๊ะระบายอารมณ์ พร้อมกล่าวด้วยน้ำเสียงโมโหว่า “ทำไมไม่ซื้อ ทำไมซื้อไม่ได้ แล้วมาบอกเครื่องมือไม่พอ ทำไมไม่ทำกัน มันควรจะเสร็จตั้งแต่ชาติที่แล้ว เสียหายกันไปเท่าไหร่ วันนี้ต้องทำทุกวิถีทางแล้ว เหลืออย่างเดียวให้นายกฯ ลงมาทำเองหรือไม่ ผมไม่ได้หงุดหงิด แต่งานมันเดินหน้าไม่ได้ ถ้าไม่เสร็จภายในเดือนมิถุนายนก็จะไม่ผ่อนผันอีกแล้ว ถ้าขึ้นทะเบียนไม่ครบจับกุมอย่างเดียว”