กรมสุขภาพจิต จัดหน่วยแพทย์เยียวยาใจเคลื่อนที่ดูแลประชาชนร่วมพิธีพระราชทานเพลิงศพ “จ่าแซม” เชิดชูเป็นสัญลักษณ์ของจิตอาสา แนะผู้ปกครองสอนปลูกฝังลูกหลานและให้ลงมือทำจริงตั้งแต่วัยเด็ก บ่มเพาะความงอกงามทางจิตใจ เป็นผู้ใหญ่คิดบวก มีคุณธรรม จริยธรรม ช่วยเหลือสังคม
วันนี้ (14 ก.ค.) น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ในวันพระราชทานเพลิงศพ จ.อ.สมาน กุนัน หรือ จ่าแซม วันที่ 14 ก.ค. 2561 กรมสุขภาพจิตได้จัดหน่วยแพทย์เยียวยาใจเคลื่อนที่ชุดใหญ่ร่วมกับโรงพยาบาลในจังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อให้บริการดูแลสุขภาพกายและใจครอบครัวและญาติของจ่าเอกสมาน และประชาชนที่ไปร่วมไว้อาลัยจำนวนมากอย่างเต็มที่และดีที่สุด โดยทีมสุขภาพจิตจะทำการเฝ้าระวังเป็นพิเศษในเรื่องของความโศกเศร้า เนื่องจากการเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ของจ่าเอกสมาน เป็นความสูญเสียของคนไทยทุกคน ซึ่งความรู้สึกอาลัยต่อการสูญเสียของคนหมู่มาก อาจเหนี่ยวนำให้เกิดความโศกเศร้าที่แพร่ถึงกันได้
น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า อีกด้านหนึ่งของความสูญเสีย จ.อ.สมาน กุนัน คือ ความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ เพราะวีรกรรมและคุณความดีของจ่าเอกสมานเป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศ เป็นตัวอย่างของการทำความดีเพื่อผู้อื่นอย่างเต็มความสามารถโดยไม่คิดถึงแม้ตนเอง จ่าเอกสมานถือเป็นสัญลักษณ์ของจิตอาสา เป็นผู้ที่สร้างความผาสุกทางจิตใจให้คนอื่นในยามที่เกิดภาวะคับขัน หรือเกิดวิกฤติการณ์ ภัยพิบัติต่างๆ จึงอยากให้ประชาชนชาวไทยร่วมกันแปรเปลี่ยนความเศร้าโศกหรือความอาลัยต่อการจากไปของจ่าเอกสมาน ให้เป็นพลังในการทำความดี เป็นพลังของจิตอาสาที่จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน โดยไม่มีการแบ่งกั้น ยิ่งห่วงหามากเท่าใด ก็จะยิ่งทำความดีไปกว่านั้น จะช่วยเยียวยาให้พ้นจากความเศร้าโศกและความอาลัยได้ ถือเป็นการเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่ของตนเองและครอบครัวด้วย จะทำให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งน้ำใจ ผู้คนมีมิตรไมตรีต่อกันอย่างยั่งยืน
นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ในมุมมองของจิตแพทย์ ความเศร้าโศกจากการสูญเสียนับเป็นภาวะวิกฤตทางจิตใจอย่างหนึ่ง ขณะเดียวกัน ก็สามารถพลิกฟื้นภาวะวิกฤตให้เป็นพลังได้เช่นกัน โดยการผันตัวเองมาเป็นผู้ร่วมกอบกู้วิกฤต ซึ่งทำได้โดยการเป็นจิตอาสาช่วยเหลือผู้อื่น เกิดเป็นความภาคภูมิใจถือเป็นการเยียวยาจิตใจตนเองที่ดีและยั่งยืน อีกทั้งเกิดการยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น โดยจะได้ผลดีที่สุดเมื่อการช่วยเหลือนั้นไม่มุ่งหวังสิ่งตอบแทน คำชมเชย และช่วยเหลือโดยไม่มีการแบ่งแยก
“ทั้งนี้ การเป็นจิตอาสา ควรเริ่มต้นตั้งแต่วัยเด็กซึ่งเป็นวัยแห่งการเรียนรู้ ไม่ต้องรอให้เป็นผู้ใหญ่เสียก่อน การเป็นจิตอาสาจะเป็นการบ่มเพาะความงอกงามทางจิตใจของเด็ก (Personal Growth) เสริมสร้างให้เกิดคุณธรรม และจริยธรรม เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ มีมุมมองโลกในแง่บวก ช่วยเหลือสังคม สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมไทยในยุค 4.0 ได้อย่างมีความสุขและช่วยให้ประเทศเจริญก้าวหน้า จึงขอแนะนำให้พ่อแม่ใช้โอกาสช่วงที่สังคมไทยและทั่วโลกกล่าวขานยกย่องจ่าเอกสมาน กุนัน เป็นวีรบุรุษถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ช่วยทีมหมูป่า 13 ชีวิตออกมาจากถ้ำอย่างปลอดภัย สอนลูกหลาน โดยยกเอาภาพของจ่าเอกสมานที่เห็นตามสื่อ เป็นภาพสัญลักษณ์ของการทำความดีเพื่อผู้อื่น และควรสอนด้วยการลงมือพาเด็กทำจริง ปฏิบัติไปพร้อมๆ กับพ่อแม่ผู้ปกครอง ซึ่งถือว่าเป็นการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด สามารถทำได้ทุกที่ ทุกเวลา เพราะการสอนคุณธรรม จริยธรรมโดยตรงให้แก่เด็กนั้น เด็กอาจยังไม่เข้าใจเนื่องจากเป็นเรื่องที่เป็นนามธรรม ไม่มีตัวตนให้เห็น” นพ.ณัฐกร กล่าว