สธ.เผยผลเลือด 13 หมูป่า ไม่พบเชื้อผิดปกติ ชมสารคดีกู้ภัยเป็นบทเรียนเอาตัวรอด ระวังวิพากษ์วิจารณ์ เสี่ยงกระทบจิตใจ หวั่นเดินสายสัมภาษณ์ซ้ำรอยคนงานเหมืองชิลี อย่ายึดติดการเป้นจุดสนใจ เตรียมพร้อมจิตใจเด็กและญาติรับมือทุกเหตุการณ์หลังออก รพ.ด้วยตัวเอง
วันนี้ (13 ก.ค.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงผลการตรวจเลือดของนักฟุตบอลเยาวชนและโค้ช ทีมหมูป่า อะคาเดมี ทั้ง 13 คน ที่ส่งมาตรวจในห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ในกรุงเทพมหานคร เพื่อหาเชื้อโรคอุบัติใหม่ ว่าผลการตรวจวิเคราะห์ออกมาครบทั้ง 13 คนแล้ว ไม่พบความผิดปกติหรือมีปัญหาอะไร ส่วนสภาพจิตใจต้องดูแลต่อไป เชื่อว่าคนไทยมีความปรารถนาดี เมื่อช่วยเหลือน้องๆ ออกมาได้แล้ว ก็หวังที่จะให้น้องๆ อยู่ในสังคมได้อย่างเป็นปกติสุข
สำหรับกรณีสื่อระดับโลกที่มีการทำสารคดีเกี่ยวกับปฏิบัติการกู้ภัยน้องๆ ออกจากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย เป็นเรื่องปกติที่จะได้รับความสนใจ แต่ควรอยู่ในระดับที่เหมาะสม เห็นได้จากกรณีคนงานเหมืองชิลี เมื่อได้รับการช่วยเหลือออกมาแล้วมีการแห่ชื่นชมเหมือนเป็นฮีโร่ มีการออกสื่อจำนวนมาก สุดท้ายคนก็ลืม ไม่ให้ความสนใจ ขณะที่ผู้ประสบภัยบางคนไม่สามารถก้าวพ้นและมีภาวะซึมเศร้า เรื่องของน้องๆ ทีมหมูป่าก็อยากให้มีความเหมาะสม ขณะที่ผู้รับชมก็ขอให้ดูเพื่อเรียนรู้ว่าจะเอาตัวรอดอย่างไร และระมัดระวังเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์ เพราะอาจจะกระทบกับสภาพจิตใจของทั้ง 13 คนได้ บางคำเราไม่ได้คิดอะไร แต่มันมีผลต่อจิตใจ
ด้าน พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองปลัด สธ. ในฐานะจิตแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงการดูแลร่างกายให้แข็งแรงเพื่อให้ออกจากโรงพยาบาล กลับสู่สังคม และใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไปโรงเรียน ทำกิจกรรมต่างๆ ได้ ส่วนเรื่องสภาพจิตใจก็มีการเตรียมความพร้อมให้ทราบเหตุผลถึงการได้รับช่วยเหลือออกมาก่อนหลัง การออกจากโรงพยาบาลก่อนหลัง เพราะอะไร รวมถึงสิ่งที่อาจจะต้องเผชิญหลังออกจากโรงพยาบาลแล้ว เพื่อให้สามารถรับมือกับสิ่งเหล่านี้ได้ด้วยตนเอง เพราะสิ่งสำคัญ คือ อยากให้เด็กและครอบครัวมีความเข้มแข็งด้วยตัวเอง ตัดสินใจด้วยตัวเองได้
“อย่างเรื่องการให้สัมภาษณ์ต่างๆ นั้น เราคงไม่สามารถห้ามได้ว่าควรหรือไม่ควร เพราะทุกอย่างอยู่ที่การตัดสินใจของน้องและครอบครัว แต่เราจะอธิบายให้ทราบว่าจะเกิดผลอะไรตามมาบ้าง และทุกการตัดสินใจของเด็กและครอบครัวจะต้องยอมรับผลที่จะตามมา เช่น เมื่อได้รับความสนใจ ก็จะได้รับความสนใจทั้งแง่มุมที่ดีและไม่ดีด้วย และไม่มีใครที่จะสนใจเราตลอดเวลา พอเวลาผ่านไปความสนใจก็ผ่านตามไปด้วย ก็ต้องยอมรับในเรื่องเหล่านี้ให้ได้ด้วย” พญ.พรรณพิมลกล่าว และว่าที่ผ่านมาในแง่ของสุขภาพจิตใจผู้ประสบเหตุวิกฤตต่างๆ เรามีการถอดบทเรียนอยู่ตลอด แต่ต้องยอมรับว่าไม่สามารถเอาข้อสรุปของเหตุการณ์หนึ่ง ไปใช้กับอีกเหตุการณ์หนึ่งได้ เช่น คนงานเหมืองในชิลี หรือเหตุการณ์สึนามิ เป็นต้น ส่วนการฟื้นฟูสภาพจิตใจนั้นจะอาศัยประสบการณ์ชีวิตเป็นหลัก แต่คงไม่สามารถบอกได้ว่าผู้ใหญ่จะฟื้นตัวได้ดีกว่า เพราะขึ้นอยู่กับวิธีคิดและมุมมองของแต่ละคนด้วย