สภาการพยาบาล เผย ม.คริสเตียน ยังไม่ปรับปรุงหลักสูตร พ่วงรับ นศ.จำนวนมาก เกินอัตราส่วนมาตรฐานอาจารย์ประจำต่อ นศ. ถึง 2 เท่า ชี้ กระทบคุณภาพการเรียนการสอน จนสอบได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพน้อยกว่าที่อื่น ขณะที่เกรดการรับรองสถาบันศึกษาได้แค่ 1 ปี ต่อเนื่องหลายปี ที่มาให้งดรับ นศ. หรือเพิ่มจำนวนอาจารย์
จากกรณีตัวแทนนักศึกษา สาขาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยคริสเตียน ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 10 ก.ค. ที่ผ่านมา เพื่อให้ช่วยเหลือจากการได้รับความเดือดร้อนที่ ม.คริสเตียน ยกเลิกหลักสูตรพยาบาลศาสตร์ที่เปิดสอนเมื่อปี 2560 เนื่องจากไม่ได้รับการรับรองจากสภาการพยาบาล ทำให้ได้รับความเสียหายอย่างมาก
วันนี้ (11 ก.ค.) ผศ.อังคณา สริยาภรณ์ เลขาธิการสภาการพยาบาล กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า สภาการพยาบาลไม่ได้ยกเลิกหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต ของ ม.คริสเตียน แต่ยังไม่ได้ให้ความเห็นชอบหลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2560 ของมหาวิทยาลัย เนื่องจากมหาวิทยาลัยยังแก้ไขหลักสูตรไม่แล้วเสร็จ ซึ่งการปรับปรุงหลักสูตร สภาการพยาบาลมีข้อกำหนดให้มีการปรับปรุงหลักสูตรอย่างน้อยทุก 5 ปี ซึ่งสอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อให้หลักสูตรมีความทันสมัย เท่าทันต่อสถานการณ์ เศรษฐกิจสังคม และสภาพแวดล้อม ที่เปลี่ยนแปลงไป ยกตัวอย่าง ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หรือก้าวเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 ดังนั้น หลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนของพยาบาลก็ต้องปรับปรุงพัฒนาเพื่อให้สามารถรองรับเรื่องเหล่านี้ได้ อย่างไรก็ตาม สภาการพยาบาลไม่มีอำนาจในการปิดหลักสูตร เพราะเป็นอำนาจของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)
ผศ.อังคณา กล่าวว่า ที่ผ่านมา ม.คริสเตียน รับนักศึกษาที่ต้องการจะเรียนพยาบาลจำนวนมากเกินไป ทำให้อัตราส่วนอาจารย์ประจำต่อนักศึกษาสูงกว่ามาตรฐานที่กำหนด มากกว่า 2 เท่าตัว ทำให้การจัดการเรียนการสอนไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยเฉพาะขาดอาจารย์ที่จะดูแลนักศึกษาในการฝึกปฏิบัติการพยาบาล ซึ่งทำให้อาจเกิดอันตรายกับผู้ป่วย หรือผู้สำเร็จการศึกษาอาจขาดทั้งความรู้ และทักษะในการปฏิบัติงานในวิชาชีพ ซึ่งส่งผลให้การสอบความรู้เพื่อขอขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้จำนวนน้อยกว่าสถาบันอื่น สภาการพยาบาลจึงได้เสนอแนะให้ปรับลดจำนวนรับนักศึกษาแต่ละปีลง หรือรับอาจารย์จำนวนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสภาการพยาบาลกังวลกับคุณภาพของผู้ประกอบวิชาชีพที่จะออกมารับใช้สังคม
“โดยปกติแล้ว สภาการพยาบาลจะมีการออกไปตรวจเยี่ยมเพื่อรับรองสถาบันการศึกษาพยาบาล เนื่องจากคุณสมบัติประการหนึ่งของผู้ที่จะสมัครสอบขอขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ จะต้องสำเร็จการศึกษาจากสถาบันที่สภาการพยาบาลให้การรับรอง ซึ่งการรับรองจะมีอยู่หลายระดับ เช่น รับรองสูงสุดจำนวน 5 ปี หมายความว่ามีคุณภาพอยู่ในเกณฑ์ดีมาก จึงมาตรวจเยี่ยมอีกครั้ง คือ ครบ 5 ปี และไล่ลงมาเป็นรับรอง 4 ปี รับรอง 3 ปี รับรอง 2 ปี รับรอง 1 ปี และไม่รับรอง ซึ่ง ม.คริสเตียน ได้รับการรับรองเพียง 1 ปี มาต่อเนื่องหลายปี เพราะมีเรื่องที่ต้องปรับปรุงอีกมาก ทั้งนี้ ผลของการตรวจเยี่ยมสถาบันทุกสถาบันเมื่อได้ข้อสรุปเป็นมติของกรรมการสภาการพยาบาลแล้ว สภาการพยาบาลจะประกาศบนเว็บไซต์ของสภาการพยาบาลให้ทราบโดยทั่วกัน รวมทั้งจำนวนการรับนักศึกษาด้วย หากมหาวิทยาลัยไม่ได้สนใจและไม่ได้ตั้งใจที่จะพัฒนาคุณภาพของการจัดการศึกษา โดยเฉพาะการจัดการศึกษาในระดับวิชาชีพ จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างมาก และสถาบันควรจะต้องรับผิดชอบต่อผลที่เกิดขึ้น” ผศ.อังคณา กล่าว
ผศ.อังคณา กล่าวว่า สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นมองว่า ทางมหาวิทยาลัยต้องเป็นผู้รับผิดชอบเยียวยาต่อนักศึกษา อย่างคนที่เรียนไปแล้วมหาวิทยาลัยก็ต้องหาทางช่วยเหลือในการโอนย้ายไปเรียนสถาบันอื่น ว่า มีสถาบันใดที่พร้อมรับนักศึกษาไปเรียนบ้าง และเทียบโอนหน่วยกิตได้หรือไม่ และต้องรับผิดชอบถึงการกู้เงินเรียนของนักศึกษาด้วย ทั้งนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นมามองว่า เกิดจากการที่มหาวิทยาลัยไม่มองถึงคุณภาพการศึกษา จนทำให้เกิดประเด็นดังกล่าวขึ้น