xs
xsm
sm
md
lg

302 อำเภอทั่วประเทศ พื้นที่ระบาด “ไข้เลือดออก” ชี้ กทม.-ปริมณฑล ระบาดสูง คลอดมาตรการคุมโรค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“บิ๊กฉัตร” เผย 302 อำเภอทั่วประเทศ เป็นพื้นที่ระบาด “ไข้เลือดออก” ชี้ กทม.และปริมณฑล ระบาดสูง อีก 131 อำเภอพื้นที่เสี่ยง และ 495 อำเภอ เป็นพื้นที่ปกติ คลอดมาตรการเข้มทั้ง 3 กลุ่ม เร่งทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงทุกหลังคาเรือน ควบคุมบ้านผู้ป่วยใน 3 ชั่วโมง ตั้งเป้า ส.ค. ผู้ป่วยไข้เลือดออกรายใหม่ไม่เกิน 10,000 ราย เชื่ออาสาสมัครร่วมกันทำงานจะสำเร็จเช่นเดียวกับการอาสาช่วยทีมหมูป่า

วันนี้ (11 ก.ค.) ที่หน้าอาคารสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และผู้บริหาร สธ. ร่วมกันเปิดโครงการรณรงค์อาสาปราบยุง ควบคุมโรคไข้เลือดออก โดยมีการมอบธงให้กับ 10 หน่วยงานที่เข้าร่วมเป็นอาปราบยุง อาทิ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และกรมต่างๆ ในสังกัด สธ. เป็นต้น

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโรคไข้เลือดออกถือว่าน่าเป็นห่วง โดยตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 10 ก.ค. 2561 พบผู้ป่วย 28,732 ราย เทียบเท่าการระบาดในปี 2558 มีผู้เสียชีวิต 37 ราย โดย 2 ใน 3 ของผู้เสียชีวิตเป็นผู้ใหญ่ ปัญหาคือ มีการซื้อยารับประทานเอง ซึ่งไม่ควรทำ เพราะยาบางประเภททำให้อาการป่วยรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ เช่น แอสไพริน เป็นต้น ดังนั้น หากป่วยไข้สูงลอย 2-3 วัน อาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรักษาให้เร็วที่สุด สำหรับการคิกออฟให้ทั่วประเทศเดินหน้าปราบลูกน้ำยุงลาย และควบคุมการระบาดของโรคไข้เลือดออก ตั้งตั้งเป้าว่าภายใน ส.ค.นี้ จะต้องมีผู้ป่วยไข้เลือดออกรายใหม่ไม่เกิน 1 หมื่นราย หากพื้นที่ใดดำเนินการไม่สำเร็จก็ต้องมาทบทวนมาตรการดำเนินการต่อไป

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า การดำเนินงานควบคุมโรคไข้เลือดออก สธ.จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. พื้นที่ระบาด มีผู้ป่วยมากกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง มีจำนวน 302 อำเภอ โดยพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลจัดเป็นพื้นที่ระบาดสูง 2. พื้นที่เสี่ยง มีผู้ป่วยเท่ากับค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง 131 อำเภอ และ 3. พื้นที่ปกติ มีผู้ป่วยน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี ย้อนหลังจำนวน 495 อำเภอ โดยพื้นที่ระบาดและพื้นที่เสี่ยงนั้น มาตรการจะเน้นมาตรการควบคุมโรคเข้มข้นทุกชนชน ทุกหลังคาเรือน โดยให้มีการเปิดศูนย์ EOC อำเภอ มีนายอำเภอเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ ต้องติตดามสถานการณ์ผู้ป่วย ดัชนีลูกน้ำยุงลายในพื้นที่ที่เกินกว่าร้อยละ 5 ทุกวัน ส่วนการควบคุมยุงลายให้ดำเนินตามมาตรการ 3-3-1 คือ รับแจ้งและไปควบคุมที่บ้านผู้ป่วยไข้เลือดออกภายใน 3 ชั่วโมง ควบคุมภายในรัศมี 100 เมตรรอบบ้านผู้ป่วย ใน 1 วัน และควบคุมโรคต่อเนื่องในหมู่บ้านทุก 7 วัน นอกจากนี้ ให้ อสม.เคาะประตูบ้านทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงทุกหลังคาเรือน กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงพื้นที่สาธารณะ เช่น วัด โรงเรียน โรงพยาบาล ทุกสัปดาห์

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า สำหรับพื้นที่ปกติ ให้รณรงค์ทุกพื้นที่ให้หน่วยงานราชการทั้งส่วนจังหวัด อำเภอ สาธารณสุข ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงพร้อมกันทั่วประเทศวันที่ 12-18 ก.ค. และทำสัปดาห์ละครั้ง ส่วน สธ.จะทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงทั้งกระทรวงวันที่ 11 ก.ค. และสัปดาห์ละครั้ง เป็นต้น ทั้งนี้ โรคไข้เลือดออกถือเป็นโรคที่ป้องกันได้ ไม่สมควรที่จะมีใครเสียชีวิต จึงอยากให้ประชาชนร่วมมือในกับภาครัฐในการกำจัดลูกน้ำยุงลาย ไม่ใช่แค่แหล่งที่มีน้ำขัง แต่รวมถึงแหล่งที่เป็นขยะ ที่จะเป็นที่หลบซ่อนของยุงลายในตอนกลางวันด้วย

“การช่วยเหลือนักฟุตบอลเยาวชนทีมหมูป่าอะคาเดมี และโค้ชรวม 13 ชีวิต ที่ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ประสบความสำเร็จ เพราะว่ามีอาสาสมัครเข้ามาร่วมให้ความช่วยเหลือจำนวนมาก ทั้งคนไทยและต่างชาติ เช่นเดียวกันกับการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออก ซึ่งหากอาสาสมัครมาช่วยกันดูแลป้องกัน ก็เชื่อว่าจะประสบความสำเร็จได้เช่นเดียวกัน” รองนายกฯ กล่าว







กำลังโหลดความคิดเห็น