xs
xsm
sm
md
lg

กำชับ “คลินิกเอกชน-ร้านยา” ห้ามจ่ายยากลุ่ม NSIADs คนมีไข้ 2 วัน หวั่นป่วยไข้เลือดออกหนักขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สธ.กำชับสื่อสารคลินิกเอกชน ร้านขายยา หากพบผู้ป่วยมีไข้เกิน 2 วัน อาการไม่ดีขึ้น ให้ไป รพ. ห้ามจ่ายยา ฉีดยา กลุ่มแก้ปวดลดไข้ต้านการอักเสบ หวั่นทำโรคไข้เลือดออกรุนแรงขึ้น พร้อมจัดทำโครงการจิตอาสาปราบยุงลาย ถวายเป็นพระราชกุศล

วันนี้ (29 มิ.ย.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และโฆษก สธ. กล่าวภายหลังประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ทั่วประเทศ เพื่อติดตามการดำเนินงานมาตรการป้องกันควบคุมไข้เลือดออก ว่า สธ.มีข้อสั่งการใน 2 เรื่อง สำคัญ คือ 1.การดูแลรักษาผู้ป่วย กำชับให้สื่อสารเชิงรุกถึงมาตรการรักษาผู้ป่วยให้ถึงคลินิกเอกชนและร้านขายยา แนะนำหากมีผู้ป่วยมีไข้เกิน 2 วัน อาการไม่ดีขึ้นต้องแนะนำให้ไปโรงพยาบาล ห้ามฉีดยา ห้ามจ่ายยา กลุ่มแก้ปวดลดไข้ต้านการอักเสบ หรือกลุ่ม NSAIDs เนื่องจากจะเป็นอันตรายหากผู้ป่วยเป็นไข้เลือดออก และให้จัดอบรมชี้แจงเกณฑ์การวินิจฉัยโรคและรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล รวมทั้งเกณฑ์การส่งต่อผู้ป่วยให้เหมาะสม

2.การควบควบคุมโรค ได้จัดทำ “โครงการจิตอาสาปราบยุงลาย เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล” ให้ทุกพื้นที่จัดกิจกรรมรณรงค์ตลอดเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป โดยจัดรณรงค์พร้อมกันทั่วประเทศ ในระหว่างวันที่ 9-15 กรกฎาคม ที่ศูนย์ราชการ ศาลากลางจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และโรงพยาบาล หลังจากนั้นให้ร่วมกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ส่วนในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคให้จัดทีมสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะในพื้นที่สาธารณะ ได้แก่ ศาสนสถาน โรงเรียน โรงพยาบาล สถานที่ราชการ ให้ค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายต้องเป็นศูนย์

“ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงฤดูฝน โรคที่พบได้บ่อยคือไข้เลือดออกโดยเฉพาะในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกันยายน อาจพบผู้ป่วยได้มากกว่า 10,000 ราย ต่อเดือน หากไม่มีการควบคุมป้องกันโรคที่ดี ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้แสดงความเป็นห่วงสถานการณ์โรคไข้เลือดออกพร้อมกำชับให้เร่งรณรงค์ขอความร่วมมือประชาชนทั่วประเทศเป็นจิตอาสาปราบยุงลาย” นพ.โอภาส กล่าว

สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 29 มิถุนายน 2561 พบผู้ป่วยแล้ว 22,539 ราย เสียชีวิต 38 ราย พบผู้ป่วยในอายุ 15-34 ปี คิดเป็นร้อยละ 40 รองลงมาในกลุ่มอายุ 5-14 ปี คิดเป็นร้อยละ 36 ส่วนผู้เสียชีวิตเป็นผู้ใหญ่มากถึง 28 ราย โดยเป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรังเช่น มีภาวะซีด  มีภาวะ ตับ ไต หัวใจทำงานบกพร่อง มีภาวะอ้วน เป็นต้น ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือประชาชน ในการควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในบ้านตนเอง เพราะขณะนี้พบบ้านในชุมชนมียุงลายถึงร้อยละ 29 หรือสามบ้านพบ 1 บ้าน ถ้าประชาชนไม่ร่วมมือกันจะไม่สามารถควบคุมโรคไข้เลือดออกได้



กำลังโหลดความคิดเห็น