มธ. ชี้ 6 ทักษะที่ผู้นำรุ่นใหม่ต้องมี พร้อมเปิด “โรงเรียนอนาคต” สร้างเยาวชนเป็นผู้นำในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง
วันนี้ (5 ก.ค.) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จับมือภาคีเครือข่ายด้านการเรียนรู้เปิดตัว “โรงเรียนอนาคต” ประสบการณ์เรียนรู้แนวใหม่ เพื่อสร้างผู้นำรุ่นใหม่ให้มีความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะ พร้อมรับมือกับความท้าทายในโลกใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผ่านการเรียนรู้หลากหลายรูปแบบ อาทิ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ฝึกทักษะระดับปฏิบัติการ ระดมความคิด และเดินทางร่วมกับวิทยากรชั้นนำจากหลากหลายวงการกว่า 50 คน เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนมีทักษะ 6 ด้าน ที่ผู้นำรุ่นใหม่ควรมีได้แก่ รู้เท่าทันโลกและสังคม มีความรับผิดชอบ สื่อสารอย่างสร้างสรรค์และทรงพลัง มีสุนทรียะในจิตใจ เป็นผู้นำทีม และมีจิตวิญญาณเพื่อรับใช้ประชาชนและสังคม ทั้งนี้ งานแถลงข่าวเปิดตัว “โรงเรียนอนาคต” ภายใต้ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ประจำประเทศไทย, คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบริษัท ดิ วันโอวัน เปอร์เซนต์ จำกัด จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ ห้องวรรณไวทยากร ชั้น 1 ดึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานสื่อสารองค์กร มธ. โทรศัพท์ 02-564-4493 หรือเว็บไซต์ www.tu.ac.th/news
รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า โลกยุคดิจิทัลเปลี่ยนแรงและเร็ว ทุกส่วนของโลกเชื่อมโยงกันผ่านเทคโนโลยี การพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบที่คาดการณ์ได้ยาก สังคมไทยจะก้าวต่อไปอย่างประสบความสำเร็จในสังคมโลกได้ ก็ต้องมีผู้นำรุ่นใหม่ที่พร้อมจัดการกับโลกแห่งความไม่แน่นอนในอนาคต และนี่จึงเป็นที่มาของวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่จะ “สร้างผู้นำรุ่นใหม่ให้สังคมไทยและนานาชาติ” และตั้งเป้าหมายในการปลูกฝังบัณฑิตของ มธ. ให้มีคุณลักษณะ 6 ข้อ ที่เหมาะกับการเป็น “ผู้นำแห่งศตวรรษที่ 21” หรือ GREATS อันประกอบไปด้วย รู้เท่าทันโลกและสังคม (Global Mindset) มีความรับผิดชอบ (Responsibility) สื่อสารอย่างสร้างสรรค์และทรงพลัง (Eloquence) มีสุนทรียะในจิตใจ (Aesthetic Appreciation) เป็นผู้นำทีม (Team Leader) และมีจิตวิญญาณเพื่อรับใช้ประชาชนและสังคม (Spirit of Thammasat)
โครงการ “โรงเรียนอนาคต” จะทำหน้าที่เสมือนแปลงต้นกล้าที่จะบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ผู้นำรุ่นใหม่ในตัวของเยาวชน ผ่านประสบการณ์เรียนรู้รูปแบบใหม่ที่จะเปิดโลกทัศน์ให้กว้างไกล และปลูกฝังวิธีคิดที่จะติดตัวเขาเหล่านั้นไปในอนาคต รวมถึงจะมีโครงงานเข้มข้นที่จะช่วยเยาวชนให้ดึงศักยภาพในตัวออกมาให้เบ่งบานและงอกงาม พวกเขาเหล่านี้จะเป็นเครือข่ายของขุมพลังแห่งการขับคลื่อนสังคมไทยและนานาชาติในอนาคตต่อไป มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขอปักธงในการสร้างผู้นำรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่องเพื่อให้เยาวชนต้นกล้าเหล่านี้ไปเติบโตและขยายผลในทุกแวดวง ทุกส่วนของสังคมไทย และสังคมโลกต่อไปในอนาคต
รศ.ดร.พิภพ อุดร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ. กล่าวว่า เราต้องฝากโลกอนาคตไว้ในมือของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มักเรียกกันว่า Gen Z และ Gen Alpha คนเจเนอเรชันใหม่เหล่านี้มีวิธีคิด ความเชื่อ ค่านิยม และพฤติกรรมที่แตกต่างจากคนในรุ่นก่อนๆ อย่างสิ้นเชิง ซึ่งก็สอดรับไปกับสังคมโลกที่ถูกขับคลื่อนไปในรูปแบบที่โอกาสมีไม่จำกัด ในขณะที่สิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา สิ่งที่มีอยู่ก็พร้อมที่จะล้าหลังและพ้นสมัยไปตลอดเวลาเช่นกัน คำถามคือเราจะเตรียมคนให้พร้อมสำหรับโลกใหม่ในอนาคตได้อย่างไร ในเมื่อเราเองก็ยังไม่ชัดเจนว่าโลกอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปเช่นไร สิ่งที่แน่นอนก็คือ การสร้างคนเพื่อรับมือกับโลกอนาคตไม่อาจใช้วิธีการเดิมๆ ได้อีกต่อไป ความรู้ไม่สำคัญเท่าความคิด ทักษะสำคัญกว่าเนื้อหา และ 3 ทักษะสำคัญคือ “คิด วิเคราะห์ ค้น” คือ สิ่งที่เราต้องปลูกฝังให้เป็นส่วนหนึ่งของ DNA คนรุ่นใหม่ เพราะถ้ามี 3 ทักษะนี้ เขาเหล่านั้นจะสามารถปรับตัวรับสถานการณ์ใหม่ๆ ที่ไม่เคยพบเจอได้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดๆ
รศ.ดร.พิภพ กล่าวเพิ่มเติมว่า “โรงเรียนอนาคต” ทำหน้าที่เป็นเสมือนกรีนเฮ้าส์ที่จะบ่มเพาะ และเร่งอัตราการเติบโตทางวิธีคิด มุมมอง และทักษะที่ผู้นำพึงมีเพื่อให้ประสบความสำเร็จในอนาคต เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้ลองผิดลองถูก ได้เรียนรู้รอบด้านในท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย ได้ก้าวออกจากพื้นที่ปลอดภัยของตนเอง และคิดเรื่องใหม่ๆ ที่ใหญ่กว่าเรื่องของตนเอง ได้คิดและพัฒนาโครงการที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยและสังคมโลกไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น และเราโชคดีที่มีพาร์ตเนอร์ที่เชี่ยวชาญในเรื่องเหล่านี้มาช่วยกันขับเคลื่อนโครงการที่จะเป็นอนาคตของการสร้างผู้นำรุ่นใหม่ให้สังคมไทยและนานาชาติตามวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต่อไป
ด้าน ผศ.ปกป้อง จันวิทย์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท ดิวันโอวัน เปอร์เซนต์ จำกัด และบรรณาธิการบริหารสื่อความรู้สร้างสรรค์ บริษัท ดิ วันโอวัน เปอร์เซนต์ จำกัด กล่าวว่า เสน่ห์ที่น่าตื่นตาตื่นใจของ “โรงเรียนอนาคต” คือ 1) ความหลากหลายของนักเรียนที่เข้าร่วม ที่มีทั้งนักเรียนมัธยม และนักศึกษา จากหลากลายคณะ มาเรียนรู้ เรียน กิน นอนร่วมกันกันสองสัปดาห์เต็ม ซึ่งจะเป็นการเปิดโลกและเปิดพื้นที่ในการเรียนรู้ข้ามศาสตร์ข้ามความสนใจของนักเรียนได้อย่างกว้างขวาง และ 2) กระบวนการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายมาก ทั้งเรียนวิชาการเรื่องการเปลี่ยนแปลงของโลกด้านต่างๆ ผ่านการแลกเปลี่ยนถกเถียงกับนักวิชาการชั้นนำ, ฝึกทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 ผ่านการลงมือปฏิบัติการจริงกับตัวจริงในวงการต่างๆ ทั้งนักคิดนักเขียน ผู้กำกับ นักออกแบบ นักแสดง นักพูด นักเคลื่อนไหวทางสังคม, เปิดวงเสวนาเรื่องอนาคตของสังคม เศรษฐกิจ การเมืองไทย กับตัวละครสำคัญในวงการต่างๆ ของประเทศ ทั้งนักการเมือง นักวิชาการ เอ็นจีโอ, เดินทางเพื่อเรียนรู้ ทั้งเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองไทย และเรื่องสตาร์ทอัพและนวัตกรรมทางธุรกิจ รวมถึงการตั้งวงสนทนาแบบไม่เป็นทางการหลังอาหารเย็นกับวิทยากรที่จะมาสร้างแรงบันดาลใจทางความคิด ทั้งหมดนี้ภายใต้การอำนวยการเรียนรู้ของวิทยากรกระบวนการมืออาชีพ
ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า “โรงเรียนอนาคต” ออกแบบมาเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลกและสังคมไทยในปัจจุบัน โรงเรียนนี้เชื่อมโยงร้อยรัดอดีต ปัจจุบัน และอนาคตเข้าด้วยกัน เห็นที่มาที่ไป เข้าใจสภาวะที่ดำรงอยู่ และร่วมกันสำรวจหนทางใหม่ๆ สำหรับอนาคต ผ่านแง่มุมความรู้และทักษะที่หลากหลาย ตั้งแต่เศรษฐกิจ การเมือง ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ศิลปะ ภาพยนตร์ สารคดี การเขียนเชิงสร้างสรรค์ ที่สำคัญห้องเรียนนี้มุ่งให้เกิดการแลกเปลี่ยนเเรียนรู้ที่เปิดกว้างและเสรี กระตุกและกระตุ้นความคิดมุมมองใหม่ๆ เป็นพื้นที่ที่ทุกคนได้เรียนรู้จากกันและกัน เพื่อสรรค์สร้างวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า
นายสตีเน่อ คลัพเพอร์ ผู้อำนวยการมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) ประเทศไทย กล่าวว่า FES ตื่นเต้นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของ “โรงเรียนอนาคต” ตั้งแต่ FES ก่อตั้งขึ้นในปี 1925 เป้าหมายหลักของเราคือการส่งเสริมคนรุ่นใหม่ในด้านการศึกษาและการมีส่วนร่วมทางสังคม เราเชื่อมั่นว่าทุกประเทศต้องการคนรุ่นใหม่ที่มุ่งมาดปรารถนาในการแบกรับความรับผิดชอบต่อชุมชน สังคม และโลก เป็นคนรุ่นใหม่ที่กล้านำเสนอความคิดใหม่ๆ และใส่ใจส่วนรวม ไม่ได้สนใจเพียงแค่อนาคตของตัวเองเท่านั้น โดยเราหวังว่านักเรียนที่ได้รับเลือกให้เข้าร่วม “โรงเรียนอนาคต” ในปีแรกนี้จะมีส่วนร่วมในการปลูกอนาคตสังคมไทยให้งอกงามขึ้น ประสบการณ์สองสัปดาห์ใน “โรงเรียนอนาคต” คงเป็นประสบการณ์ที่มีค่าและหาที่ไหนไม่ได้ นักเรียนจะได้เรียนรู้กับวิทยากรจากวงการต่างๆ ทั้งในและนอกแวดวงวิชาการ มีโอกาสได้สะท้อนคิดและคิดวิพากษ์องค์ความรู้ต่างๆ และได้สร้างเครือข่ายในกลุ่มผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่จากหลากหลายสาขา