นายกทันตแพทยสภา เผย “หมอฟัน” ต้านบังคับศึกษาลดลงชัด หลังทำความเข้าใจ ชี้ เรียนผ่านออนไลน์ ไม่เพิ่มภาระให้กับผู้ประกอบวิชาชีพ
ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา กล่าวถึงความคืบหน้าการบังคับใช้ประกาศทันตแพทยสภาว่าด้วยหลักเกณฑ์การเข้าร่วมการศึกษาต่อเนื่องของผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม พ.ศ.2560 ว่า จริงๆ เรื่องการศึกษาต่อเนื่องเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมทุกคนจะต้องทำอยู่แล้ว ซึ่งทันตแพทย์ส่วนใหญ่ก็ได้ดำเนินการมาโดยตลอดอยู่แล้ว ส่วนที่ก่อนหน้านี้มีการต่อต้านเกิดขึ้น เนื่องจากมีการตราเป็นกฎหมายบังคับให้ทันตแพทย์ทุกคนต้องทำการศึกษาต่อเนื่อง เมื่อถูกบังคับจึงเกิดการต่อต้านเป็นธรรมดา ประกอบกับยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและยังมีข้อกังวลว่าเกณฑ์การศึกษาต่อเนื่องจะเพิ่มภาระให้กับทันตแพทย์โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในชนบท แต่จากความพยายามทำความเข้าใจและชี้แจงเหตุให้มากขึ้น ก็พบว่าขณะนี้การต่อต้านลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด
“ที่กฎหมายออกมาเป็นภาคบังคับ เพื่อที่จะทำให้ทุกคนต้องทำเหมือนกัน และกฎหมายฉบับนี้ก็เป็นการคุ้มครองประชาชน ประชาชนจะได้รับการบริการที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และปลอดภัยมากขึ้น” นพ.ไพศาล กล่าวและว่า หลักการในการทำเรื่องการศึกษาต่อเนื่อง คือ ต้องทำให้แพทย์มีภาระน้อยที่สุด ใช้เวลาและค่าใช้จ่ายน้อย แต่แพทย์สามารถเข้าถึงได้ง่าย โดยกิจกรรมที่จัดขึ้นจะมีหลากหลาย เช่น เข้าประชุมวิชาการจะได้ชั่วโมงละ 1 หน่วย อ่านบทความวิชาการออนไลน์ 1-2 หน้าแล้วตอบคำถามท้ายบท 5 ข้อ จะได้ 1 หน่วย ซึ่งภายใน 5 ปี แพทย์จะต้องเก็บให้ได้ 100 หน่วย ทันตแพทย์ก็จะไม่ต้องเสียเวลาเดินทางมาเข้าร่วมประชุม ไม่ต้องละทิ้งคนไข้ ที่สำคัญหากได้เข้ามาทดลองใช้ระบบก็จะพบว่าไม่ได้ยากหรือมีภาระเพิ่มมากขึ้นอย่างที่กังวล และในอนาคตจะพัฒนาเป็นแอปพลิเคชัน (Application) ให้สะดวกมากยิ่งขึ้น
ทพ.ไพศาล กล่าวอีกว่า ตลอด 30 ปีที่ประกอบวิชาชีพทันตพทย์ พบว่า มีเทคโนโลยีและวิวัฒนาการต่างๆ เปลี่ยนไปจำนวนมาก เครื่องมือหรือวัสดุบางชนิดก็ยกเลิกใช้และมีของที่ดีกว่าเข้ามาแทนที่ แต่หากใครไม่ติดตามหรือไม่ศึกษาต่อเนื่องสิ่งเหล่านี้ ก็จะใช้แต่องค์ความรู้เดิมที่ไม่ทันสมัย ในทางกลับกันหากแพทย์มีความทันสมัย เอาเทคโนโลยีหรือวิธีการที่ก้าวหน้ามาใช้กับประชาชน ประชาชนก็จะปลอดภัยและได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
อนึ่ง ข้อบังคับของทันตแพทยสภาว่าด้วยหลักเกณฑ์การเข้าร่วมการศึกษาต่อเนื่องของผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม พ.ศ.2560 ประกาศเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2560 โดยมีผลบังคับใช้ควบคู่กับการต่อใบอนุญาต โดยทันตแพทย์ที่ได้รับใบอนุญาตการประกอบวิชาชีพทันตกรรมหลังวันที่ 12 พฤศจิกายน 2559 ใบอนุญาตมีอายุ 5 ปีการต่ออายุใบอนุญาตต้องใช้หน่วยการศึกษาต่อเนื่อง 100 หน่วยส่วนทันตแพทย์ที่ได้รับใบอนุญาตก่อนหน้านี้ หรือผู้ที่ได้รับใบประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันสาขาทันตกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการประกอบโรคศิลปะใบอนุญาตไม่มีอายุยังใช้ได้ตลอดแต่กฎหมาย กำหนดให้ต้องเข้าร่วมการศึกษาต่อเนื่องและต้องสะสมหน่วยกิจกรรมให้ได้ไม่น้อยกว่า 100 หน่วย ภายในระยะเวลา 5 ปี เช่นกัน ส่วนข่าวลือว่าถ้าไม่เข้าร่วมหรือเข้าร่วมไม่ครบตามเกณฑ์จะถูกยึดใบอนุญาตนั้นเป็นเรื่องไม่จริง