หมอแนะ 8 วิธีดูแลร่างกาย ผู้ป่วยวัณโรคติดเชื้อเอชไอวี ชี้หากดูแลไม่ดี ทำอาการรุนแรง ถึงขั้นเสียชีวิต รวมถึงแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้
นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี จะมีภูมิต้านทานในร่างกายอ่อนแอ ทำให้มีโอกาสในการติดเชื้อต่างๆ รวมถึงเชื้อวัณโรคได้ง่าย หากผู้ป่วยวัณโรคมีการติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย จะทำให้เชื้อวัณโรคมีอาการที่รุนแรงมากขึ้นกว่าปกติ คือ มีไข้ยาวนานกว่าปกติ น้ำหนักตัวลดลงมากกว่า การแพร่กระจายของวัณโรคปอดไปยังอวัยวะอื่นๆ มากกว่า เช่น เยื่อหุ้มสมอง กระดูก หรือต่อมน้ำเหลือง ไอเป็นเลือด หอบเหนื่อย เจ็บหน้าอก นอกจากนี้ อาจเกิดอาการข้างเคียงจากยาที่รักษาวัณโรค เช่น การแพ้ยา ภาวะดื้อยา และอาจเสียชีวิตจากการติดเชื้อเอชไอวี ดังนั้น หากพบว่าผู้ป่วยติดเชื้อวัณโรคปอด แพทย์จะแนะนำให้ตรวจหาเชื้อเอชไอวี เพื่อวางแผนการรักษาต่อไป
พญ.วิพรรณ สังคหะพงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวว่า การรักษาวัณโรคในปัจจุบันจะให้การรักษาระยะสั้นประมาณ 6 เดือน หากผู้ป่วยได้รับการรักษาจนครบกำหนดและไม่ดื้อยา พบว่า มีโอกาสหายขาดมากกว่าร้อยละ 95 แต่ปัญหาที่พบคือ ผู้ป่วยที่แพ้ยาง่ายและไม่มารับการรักษาอย่างสม่ำเสมอ ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน และการรักษาขาดความต่อเนื่อง ส่วนการรักษาเชื้อไวรัสเอชไอวีไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ การให้ยาต้านไวรัส เพื่อชะลอความเสียหายที่จะเกิดกับระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ดังนั้น ผู้ป่วยวัณโรคที่ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีจึงควรปฏิบัติตนตามคำแนะนำต่างๆอย่างเคร่งครัด ดังนี้
1. รับประทานยาสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง และสังเกตผลข้างเคียงที่เกิดจากการรับประทานยารักษาวัณโรค 2. รับประทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะ และพักผ่อนให้เพียงพอ 3. ไม่คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้อื่นเป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ หรือ จนกว่าอาการไอจะลดลงหรือหายไป 4. ปิดปาก จมูก เวลาไอ จาม และบ้วนเสมหะในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด 5. สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ 6. งดบริจาคเลือดและอวัยวะต่างๆ 7. งดสิ่งเสพติดทุกชนิด และ 8. ควรพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง