“หมอเชิดชู” จวกกรมบัญชีกลางออกคำสั่งลิดรอนสิทธิรักษา “ผู้ป่วยมะเร็ง” ข้าราชการ ชี้จำกัดงบประมาณ แต่ไม่คำนึงถึงมาตรฐานการรักษา ไม่นึกถึงชีวิตคนไข้ แก้ปัญหาไม่ตรงจุด ห่วงคำสั่งบังคับให้แพทย์กลับไปใช้ยาเก่าๆ ถอยหลังเข้าคลอง เพราะใช้ยาใหม่ๆ ที่ให้ผลการรักษาที่ดีไม่ได้
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา กรรมการแพทยสภา และที่ปรึกษาสำนักกฎหมายการแพทย์ กรมการแพทย์ กล่าวในงานสัมมนา “แนวทางการเข้าถึงยารักษาโรคมะเร็งในผู้ป่วยสิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาลข้าราชการ” ว่า จากกรณีที่กรมบัญชีกลางออกหนังสือ 2 ฉบับ เกี่ยวกับการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งและโลหิตวิทยา “ระบบ OCPA” โดยอ้างว่า เป็นการปรับปรุงโครงการเบิกจ่ายตรงสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง โดยให้เบิกตรงเฉพาะยา 9 รายการ และบางข้อบ่งใช้เท่านั้น เนื่องจากงบประมาณไม่เพียงพอ ทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งและผู้ป่วยที่ใช้สิทธิข้าราชการในการเบิกจ่ายได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการรักษามะเร็งค่อนข้างสูง ยาอีกหลายรายการต้องให้คนไข้จ่ายเงินไปก่อน หรือห้ามเบิกเลย
พญ.เชิดชู กล่าวว่า กรมบัญชีกลางควรคิดถึงความคุ้มค่าให้รอบด้าน ถ้าเป็นยานวัตกรรมใหม่ที่ให้ผลทางการรักษาที่ดีมีผลข้างเคียงน้อยกว่ายาเคมีบำบัด หรือไม่มียาอื่นที่จะสามารถรักษาได้ ทำให้คนไข้หายจากโรค และสามารถกลับไปดำเนินชีวิตได้ตามปกติ มีคุณภาพชีวิตที่ดี แม้ยากลุ่มนี้จะมีราคาค่อนข้างสูง แต่มีความจำเป็นมาก และหากแพทย์เห็นว่าคนไข้ควรได้รับการรักษาด้วยยาดังกล่าว แต่พอแจ้งคนไข้ว่าต้องสำรองเงินออกไปก่อน ทำให้แพทย์ลำบากใจ เพราะการสำรองเงินจ่ายสำหรับข้าราชการผู้น้อยเป็นภาระทางการเงินอย่างมาก โดยเฉพาะข้าราชการบำนาญ เนื่องจากมีแค่เงินบำนาญเท่านั้น และเป็นห่วงเรื่องคนไข้ที่เพิ่งจะเริ่มบำนาญช่วงเดือนแรกๆ ที่ต้องสำรองเงินจ่ายไปก่อนด้วยเช่นกัน กรมบัญชีกลางควรศึกษาข้อมูลต่างๆ ให้ดีก่อน เพราะในปัจจุบันตรวจพบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งเพิ่มมากขึ้นทุกปี และโรคมะเร็งยังเป็นสาเหตุการตายของประชากรลำดับ 1 ของประเทศ
พญ.เชิดชู กล่าวว่า คำสั่งที่ออกมาถือเป็นคำสั่งที่ลิดรอนสิทธิการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยและของแพทย์ด้วย เพราะคำสั่งนี้บีบบังคับให้แพทย์ต้องกลับไปใช้ยาเก่าๆ ที่ไม่มีประสิทธิภาพในการรักษา ไม่ต่างอะไรกับการผลักคนไข้ให้ไปตายเร็วขึ้นและสูญเสียงบประมาณ เพราะเมื่อให้ยาไปแล้วไม่เกิดผลทางการรักษา เซลล์มะเร็งก็จะดื้อยา และสุขภาพผู้ป่วยก็จะเสื่อมลงเรื่อยๆ สุดท้ายก็จะเสียชีวิตไปในที่สุด ซึ่งโดยส่วนตัวคิดว่า การแก้ปัญหาเรื่องงบประมาณของกรมบัญชีกลาง เป็นการทำให้วงการแพทย์ถอยล้าหลัง แทนที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะได้เรียนรู้นวัตกรรมยารักษาโรคมะเร็งใหม่ๆ แต่กลับต้องมาใช้ยาเก่าล้าหลังเป็น 10 ปี มันคือความล้มเลวของระบบสาธารณสุขไทย
“รัฐบาลและกรมบัญชีกลางควรกลับไปแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ โดยการทำความเข้าใจกับประชาชน เรื่องระบบหลักประกันสุขภาพ หากเงินในระบบทั้งหมดไม่เพียงพอ ควรผลักดันให้เกิดระบบการจ่ายร่วมเหมือนในต่างประเทศ ไม่ใช่ห่วงแต่เรื่องงบประมาณที่ประหยัดได้เพียงน้อยนิด โดยไม่คำนึงถึงชีวิตคน ที่สำคัญต้องเร่งแก้ไขระบบ OCPA ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการรักษาและเป็นภาระต่อผู้ป่วยมะเร็ง” พญ.เชิดชู กล่าว