กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผย ทำฐานข้อมูลสายพันธุ์ “เห็ดพิษ” ได้แล้วกว่า 200 สายพันธุ์ เล็งทำเป็นข้อมูลดีเอ็นเอบาร์โคดใช้ตรวจสอบในอนาคต พร้อมทำเป็นแอปพลิเคชันช่วยตรวจสอบ “เห็ด” ในตลาด รู้ทันทีมีพิษหรือไม่ ควรกินหรือไม่ทันที
วันนี้ (23 พ.ค.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีคนไทยได้รับอันตรายจากเห็ดพิษประมาณ 1,200 - 1,300 คนต่อปี อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ประมาณ 10 กว่ารายต่อปี ทั้งนี้ กรมฯ ได้พัฒนาวิธีการตรวจจำแนกชนิดของเห็ดโดยการตรวจดีเอ็นเอ ทั้งเห็ดพิษและเห็ดกินได้ ปัจจุบันสามารถเก็บข้อมูลชนิดของเห็ดได้แล้วกว่า 200 ชนิด ส่วนใหญ่เป็นเห็ดพิษ โดยพิษหลักๆ จะมีอยู่ประมาณ 3 ชนิด คือ อัลฟา อมานิติน, เบตา อมานิติน และ มัสคารีน ซึ่งการเก็บข้อมูลดังกล่าวทำให้ช่วยค้นพบสายพันธุ์เห็ดพิษที่ไม่เคยมีรายงานมาก่อนด้วย โดยในอนาคตฐานข้อมูลตรงนี้จะพัฒนาเป็นระบบดีเอ็นเอบาร์โคด เพื่อใช้ในการตรวจสอบตัวอย่างเห็ดส่งตรวจ ทำทราบได้ทันทีว่าเป็นเห็ดชนิดใด โดยไม่จำเป็นต้องตรวจสารพิษของเห็ดอีก จึงมีความรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น
นพ.สุขุม กล่าวว่า นอกจากนี้ จะพัฒนาฐานข้อมูลดังกล่าว เพื่อจัดทำเป็นแอปพลิเคชัน ซึ่งสามารถนำมาเป็นแหล่งข้อมูลในการตรวจสอบเห็ดที่จะซื้อได้ว่าเป็นเห็ดพิษหรือไม่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเก็บรูปภาพเห็ดให้มีความชัดเจน เพื่อให้ง่ายต่อการพิจารณารูปร่างและการตรวจสอบ คาดว่า ภายในปี 2562 น่าจะสำเร็จ อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้ กรมฯ ได้จัดทำหนังสือวิธีสังเกตเห็ดพิษ โดยเฉพาะเห็ดพิษที่พบได้บ่อยในการแจกแก่ประชาชน ซึ่งผู้สนใจสามารถรับได้ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 14 แห่งทั่วประเทศ
น.ส.อัจจิมา ทองบ่อ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ชำนาญการ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี ในฐานะผู้จัดทำแอปพลิเคชันตรวจสอบเห็ด กล่าวว่า การเก็บข้อมูลชนิดของเห็ดมีการดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งจากการนำมาตรวจดีเอ็นเอก็จะทำให้รู้ชนิดของเห็ดว่าเป้นชนิดใด ชนิดนี้มีพิษในกลุ่มใด ซึ่งจะได้เป็นฐานข้อมูลทั้งหมด และเมื่อเวลาตรวจตัวอย่างเห็ดในอนาคตก็จะใช้วิธีการตรวจดีเอ็นเอบาร์โคดทำให้มีความรวดเร็วไม่ถึง 22 วัน จากวิธีเดิมที่ตรวจปกติใช้เวลา 22 - 30 วัน สำหรับการทำแอปพลิเคชันนั้น อย่างที่บอกว่าเหลือการเก็บรูปภาพของเห็ดให้มีความชัดเจน ซึ่งในปี 2560 ก็เข้าป่าไปเก็บเห็ด เช่น จันทบุรี สุราษฎร์ธานี กาญจนบุรี ส่วนในปี 2561 ก็จะเก็บเพิ่มเติมจากเชียงใหม่ น่าน อุดรธานี สกลนคร
น.ส.อัจจิมา กล่าวว่า ทั้งนี้ เมื่อแอปพลิเคชันสำเร็จ เมื่อเวลาไปเจอเห็ดตามตลาดก็สามารถถ่ายรูปเห็ดแล้วอัปโหลดเข้าแอปพลิเคชันได้เลย ซึ่งแอปฯ จะประมวลผลและจับคู่ออกมาให้เลยว่าเป็นเห็ดอะไร หรือบอกว่าโอกาสเป็นเห็ดพิษกี่เปอร์เซ็นต์ เป็นเห็ดกินได้กี่เปอร์เซ็นต์ หากแอปฯ บอกว่าเป็นเห็ดกินได้มากกว่าเห็ดพิษ ก็อาจตรวจสอบจากลักษณะเห็ดเพิ่มเติมว่าเป็นอย่างไร เพื่อช่วยตัดสินใจว่าควรซื้อมารับประทานหรือไม่ หรือหากแอปฯ บอกว่าเป็นเห็ดพิษมากกว่าก็ไม่ควรซื้อมากิน