สบส. เผย ยังไม่มี “หมอต่างชาติ” ได้รับใบประกอบวิชาชีพจากแพทยสภา ชี้เข้ามารักษา - เสริมความงาม เท่ากับหมอเถื่อนทั้งหมด มีความผิดตามกฎหมาย เสนอแพทยสภาพิจารณา “หมอต่างชาติ” มาแนะนำศัลยกรรมผ่านทีวี เข้าข่ายประกอบวิชาชีพ เป็นหมอเถื่อนหรือไม่
นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้บริการทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับความงามของประเทศไทย นับได้ว่าเป็นบริการที่ได้รับความนิยมจากประชาชน และมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สถานพยาบาลหลายแห่งจึงมีการแข่งขัน ซึ่งสถานพยาบาลบางแห่งอาจจะอ้างว่ามีการให้บริการจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาเป็นจุดดึงดูดความสนใจของผู้รับบริการ ทั้งนี้ การนำแพทย์จากต่างประเทศมาให้บริการในสถานพยาบาลของไทย ไม่ว่าจะให้บริการประจำหรือไม่ประจำก็ตาม จะต้องดำเนินการให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ. สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 โดยต้องแจ้งขออนุญาตกับ สบส. หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) รวมทั้งแพทย์จากต่างประเทศต้องได้รับใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมจากแพทยสภาก่อนจึงจะมีสิทธิ์ให้บริการในสถานพยาบาลของไทย
“ปัจจุบันจากข้อมูลของแพทยสภา พบว่า ยังไม่มีแพทย์จากต่างประเทศรายใดได้รับใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมจากแพทยสภา ดังนั้น หากพบว่าสถานพยาบาลแห่งใดลักลอบใช้แพทย์จากต่างประเทศมาเป็นผู้ให้บริการ ทั้งการรักษาพยาบาล หรือเสริมความงาม จะมีความผิดตามกฎหมายฐานใช้หมอเถื่อน” นพ.ธงชัย กล่าว
ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กล่าวว่า สำหรับบทลงโทษของสถานพยาบาลที่มีการนำหมอเถื่อนมาให้บริการนั้น จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1. แพทย์ผู้ดำเนินการจะมีความผิดตาม พ.ร.บ. สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ฐานปล่อยให้ผู้อื่นที่ไม่ใช่แพทย์มาดำเนินการ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ 2. หมอเถื่อนมีความผิดตาม พ.ร.บ. วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เมื่อถามถึงกรณีมีแพทย์ต่างชาติมาให้ความรู้หรือคำแนะนำเกี่ยวกับการศัลยกรรมในรายการโทรทัศน์ โดยมีการขึ้นชื่อว่าเป็นแพทย์ชัดเจน เข้าข่ายเป็นแพทย์เถื่อนหรือไม่ ทพ.อาคม กล่าวว่า แพทย์ต่างชาติที่ไม่ได้ใบประกอบวิชาชีพประเทศไทยจากแพทยสภา ถือว่าเป็นคนธรรมดาที่ถือวีซ่าเข้ามา ดังนั้น การมาให้ความรู้ด้านสุขภาพหรือด้านการแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ก็ต้องตรวจสอบว่า พูดโอ้อวด พูดเกินจริงหรือไม่ ส่วนการมาให้คำแนะนำหรือชี้นำในการไปทำศัลยกรรมต่างๆ เรื่องนี้ทางแพทยสภาก็ต้องพิจารณาว่าเข้าข่ายการประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือไม่ ถ้าหากเข้าข่ายก็คือหมอเถื่อนตาม พ.ร.บ. วิชาชีพเวชกรรม
ทั้งนี้ ได้กำชับให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของกลุ่มโรงพยาบาลและกลุ่มคลินิก ตรวจสอบเฝ้าระวังสถานพยาบาลเอกชนในเขตกรุงเทพมหานครที่มีกว่า 6,000 แห่งอย่างต่อเนื่อง และหากประชาชนพบการให้บริการโดยแพทย์จากต่างประเทศขอให้ตั้งข้อสงสัยว่าเป็นหมอเถื่อน และหลีกเลี่ยงไม่รับบริการ หากอยู่ในเขตกรุงเทพฯ ให้แจ้งมาที่กรม สบส. ทางหมายเลขโทรศัพท์ 02 193 7000 ต่อ 18822 หรือ 18618 หรือทางเฟซบุ๊ก : สารวัตรสถานพยาบาลออนไลน์, มือปราบสถานพยาบาลเถื่อน และศูนย์รับเรื่องร้องเรียน สบส. กระทรวงสาธารณสุข ในวันและเวลาราชการ หากอยู่ในส่วนภูมิภาคให้แจ้งที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ เพื่อดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายกับสถานพยาบาลและหมอเถื่อนรายดังกล่าว