อุทาหรณ์ “ผู้สูงอายุ” สำลักยาติดคอดับ เภสัชฯ เตือนมีสติทุกครั้งที่กินยา นั่งตัวตรง ไม่เอนตัว ป้องกันสำลักง่าย กินยาทีละเม็ด อย่ากินครั้งละหลายเม็ด อย่าใช้น้ำอุ่มจัดกินยา แนะกินขณะมีลูกหลานอยู่ดูแล ด้านหมอฉุกเฉินแนะวิธีช่วยเหลือหากยาติดคอ
ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการรับประทานยาในผู้สูงอายุ หลังพบปัญหาผู้สูงอายุรับประทานยาแล้วสำลักติดคอจนเสียชีวิต ว่า การรับประทานยาในผู้สูงอายุเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง เพราะมีโอกาสที่จะเกิดการสำลักยาและติดคอสูง เนื่องจากลิ้นเปิดปิดในการรับประทานของผู้สูงอายุจะเสื่อมลง และมีข้อมูลว่าในผู้ที่ป่วยเป็นเส้นเลือดตีบในสมองจะส่งผลให้การกลืนลำบาก ดังนั้น การรับประทานอะไรก็ตามของผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือยาก็ตาม ต้องมีสติอย่างมากเพื่อไม่ให้เกิดการสำลักและติดคอขึ้น
ผศ.ภญ.นิยดา กล่าวว่า ข้อควรระวังในการรับประทานยาของผู้สูงอายุ คือ 1. ไม่ควรนอนหรือเอนตัวในการรับประทานยา เพราะมีโอกาสสำลักได้ง่ายขึ้น ควรจะนั่งหลังตรงในการรับประทานยา หรือแม้แต่ผู้สูงอายุที่ติดเตียง หากมีการป้อนยาก็ควรขยับร่างกายผู้สูงอายุให้ขึ้นมาลุกนั่งในการรับประทานยาเช่นกัน เพื่อเป็นผลดีต่อตัวผู้สูงอายุเอง 2. ไม่ควรกินยาทีละหลายเม็ด แต่ควรกินยาทีละเม็ดจนครบและดื่มน้ำตามพอสมควร และ 3. ควรใช้น้ำเปล่าธรรมดาในการรับประทานร่วมกับยา ไม่ควรใช้น้ำที่อุ่นจัดเกินไป เพราะมีโอกาสทำให้เม็ดยาละลายและถูกดูดติดได้ง่าย โดยเฉพาะพวกแคปซูล หากเกิดการสำลักขึ้นก็จะไปดูดติดอยู่ในหลอดลม รวมไปถึงไม่ควรดื่มร่วมกับน้ำเย็น น้ำผลไม้ น้ำที่อัดแก๊สเช่นกัน
“ส่วนเรื่องยาน้ำอาจเหมาะสมกับผู้สูงอายุมากกว่านั้น ตรงนี้เป็นเรื่องความสะดวกของผู้ป่วยแต่ละคนด้วย ซึ่งผู้สูงอายุบางคนก็ไม่ชอบรับประทานยาน้ำ หรือยาเม็ดมีความสะดวกมากกว่า อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ถือเป็นอุทาหรณ์ที่ควรระมัดระวังหรือใส่ใจมากยิ่งขึ้น เนื่องจากการรับประทานยาของผู้สูงอายุไม่ควรรับประทานตอนอยู่คนเดียว แต่ควรมีลูกหลานคอยช่วยดูแล นอกจากจะช่วยดูให้ผู้สูงอายุรับประทานยาอย่างปลอดภัยแล้ว หากเกิดการแพ้ยา เช่น ยาตัวนี้ไม่เคยรับประทานมาก่อนก็จะสามารถช่วยเหลือได้ หรือหากเกิดการสำลักขึ้นจะได้มีคนช่วยเหลือดูแล” ผศ.ภญ.นิยดา กล่าว
นพ.ไพโรจน์ เครือกาญจนา รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี และหัวหน้ากลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน กล่าวว่า การสำลักที่น่าห่วงคือ สำลักแล้วหายใจไม่ได้ ส่งเสียงไม่ได้ แสดงว่าเป็นสำลักที่อุดหลอดลมโดยสมบูรณ์ ซึ่งหากไม่ช่วยเหลืออย่างรวดเร็วพอ จะทำให้ขาดออกซิเจนไปเลี้ยงสมอง ทำให้เสียชีวิตได้ ทั้งนี้ หากตนเองเป็นผู้สำลักแล้วเกิดภาวะเช่นนี้ ต้องพยายามล้วงเอาสิ่งที่สำลักออกมาให้ได้ เช่น อาหารหรือยา แต่หากผู้สุงอายุมากๆ ที่ไม่มีแรงช่วยเหลือตัวเอง ให้กำมือวางตรงลิ้นปี่แล้วก้มตัวพาดกับขอบเก้าอี้ ก้มตัวแรงๆ เพื่อกระแทกหมัดให้สิ่งที่อุดอยู่ขย้อนกลับขึ้นมา หรือหากทำไม่ได้จริงๆ ต้องพยายามส่งสัญญาณให้คนช่วยเหลือ
นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า สำหรับผู้ที่ช่วยเหลือหรือดูแลผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุ อาจป้องกันตั้งแต่แรกโดยการไม่ทำอาหารที่ชิ้นใหญ่เกินไป ยิ่งผู้สูงอายุก็ไม่ควรเกิน 2 - 3 เซนติเมตร เพราะทำให้ติดคอได้ และชิ้นเนื้อไม่ควรหนาเกินไป ส่วนการช่วยเหลือเมื่อพบการติดคอ ต้องคำนึงก่อนว่าตัวเราขนาดพอกับผู้ป่วยหรือไม่ หากเราตัวใหญ่กว่าอาจจะโอบผู้ป่วยจากด้านหลังแล้วกำมือข้างหนึ่งวางตรงลิ้นปี่ แล้วใช้มืออีกข้างจับมือที่กำไว้แล้วกดหรือกระทุ้งเร็วๆ ขึ้นไปตามแนวลิ้นปี่ เพื่อให้ขย้อนออกมา หากผู้ป่วยตัวใหญ่กว่ามากอาจให้นอนลง แล้วเราใช้ท่าคู้ยันขึ้นไปตามแนวลิ้นปี่ เป็นต้น แต่หากผู้ป่วยไม่หายใจแล้วก็ให้ทำซีพีอาร์ปกติ เพราะมีโอกาสนอกจากจะช่วยให้หัวใจกลับมาเต้นแล้ว การกดหน้าอกยังมีโอกาสช่วยให้สิ่งที่ติดคออยู่ขย้อนออกมาได้ เหมือนเวลาช่วยเหลือคนจมน้ำ ก็จะสำลักน้ำออกมาเช่นกัน