สปสช. เผย 3 พี่น้องลูกครึ่งสวิส รอดชีวิตหลังพลัดตกตึก ใช้สิทธิรักษาฟรี 72 ชั่วโมง หลังพ้นแล้วใช้สิทธิบัตรทองรักษาต่อได้ ระบุ อาการยังวิกฤต ทีมแพทย์ดูแลใกล้ชิด ด้านกรมสุขภาพจิตส่งทีมจิตแพทย์ดูแลสภาพจิตใจมารดาแล้ว
วันนี้ (3 พ.ค.) เมื่อเวลา 13.00 น. ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เข้าเยี่ยมอาการพี่น้องลูกครึ่งสวิตเซอร์แลนด์ ที่รอดชีวิต 3 ราย จากการผลัดตกตึกจนได้รับบาดเจ็บสาหัสที่โรงพยาบาลรามคำแหง และโรงพยาบาลแพทย์ปัญญา
ทพ.อรรถพร กล่าวว่า จากการเข้าเยี่ยมอาการพบว่าเด็กยังอยู่ในอาการที่น่าเป็นห่วง โดย ด.ช.ลูก้า ฟรองซัว อายุ 11 ปี และ ด.ญ.ชนิดา นิรันดร์ โบเรล อายุ 7 ปี ยังคงรักษาตัวอยู่ในห้อง ไอ.ซี.ยู รพ.รามคำแหง มีทีมแพทย์และพยาบาลเฝ้าดูอาการต่อเนื่องอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีอาการบาดเจ็บกระทบที่สมอง ส่วน ด.ญ.พาเมลา นิรันดร์ โบเรล อายุ 10 ปี ซึ่งรักษาตัวอยู่ที่ รพ.แพทย์ปัญญา จากการพูดคุยกับ พล.อ.นพ.บุญลือ วงษ์ท้าว รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลแพทย์ปัญญา และ นพ.อธิคม วงศ์ศรีสันต์ แพทย์ศัลยกรรมกระดูก แพทย์ผู้ให้การรักษา พบว่า มีอาการดีขึ้นต่อเนื่อง ตาสามารถมองเห็นได้ชัดเจนขึ้น จากเดิมที่อยู่ในภาวะพร่ามัว ส่วนขาขวาที่หักนั้นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกจะให้การรักษาต่อไป
ส่วนค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลนั้น ด้วยเป็นอุบัติเหตุร้ายแรงที่ก่อให้เกิดภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลช่วง 72 ชั่วโมงแรก เป็นการใช้สิทธิตามนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” หรือ ยูเซป และเมื่อพ้น 72 ชั่วโมงแล้ว เนื่องจากเด็กทั้ง 3 คนถือสิทธิบัตรทอง โดยในกรณีของ ดช.ลูก้า และ ด.ญ.ชนิดา หากอาการดีขึ้นจนสามารถเคลื่อนย้ายได้จะส่งตัวกลับรักษาต่อยังหน่วยบริการตามสิทธิบัตรทอง คือ รพ.แพทย์ปัญญา ต่อไป ซึ่งค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลทั้งหมดเบิกจ่ายจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
“กรณีน้องทั้ง 2 คน ที่ขณะนี้ยังไม่พ้นช่วงวิกฤต เมื่อครบ 72 ชั่วโมงจะมีการประเมินอีกครั้ง โดยทาง รพ. ได้ให้ความมั่นใจกับครอบครัวว่า จะดูอาการคนไข้เป็นสำคัญ หากไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ ก็จะดูแลจนกว่าจะเคลื่อนย้ายกลับหน่วยบริการตามสิทธิได้ ส่วนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นให้เป็นไปตามความคุ้มครองตามนโยบายรัฐบาล ทั้งนี้ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้ง สปสช. รู้สึกเสียใจ และขอแสดงความเสียใจกับคุณแม่และครอบครัว ซึ่งต้องขอขอบคุณโรงพยาบาลรามคำแหง และ โรงพยาบาลแพทย์ปัญญา ที่ได้ให้ความร่วมมือในการดูแลผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตอย่างเต็มที่ ตามนโยบายและยังได้เฝ้าติดตามดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด” ทพ.อรรถพร กล่าว
ด้าน น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ได้ส่งทีมจิตแพทย์ไปคอยดูแล เยียวยาจิตใจแล้ว เรื่องนี้มี 2 - 3 ประเด็นที่ต้องดูแล คือ 1. เรื่องการสูญเสียนั้น ได้ให้ พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผอ.สถาบันราชานุกูล และทีมจิตแพทย์ลงไปดูแลมารดาของเด็กๆ ซึ่งรู้สึกโทษตัวเองที่ไม่สามารดูแลได้ และ 2. ให้ทีมจิตแพทย์เยียวยาเด็กที่รอดชีวิต ซึ่งจะได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจ เพราะอยู่ในเหตุการณ์ที่เห็นคนตกลงมาบาดเจ็บ เสียชีวิตต่อหน้าต่อตา อาจจะทำให้มีอาการหวาดผวา ตกใจอยู่ตลอดเวลา ต้องเยียวยา และพูดคุยทำความเข้าใจให้ผ่อนคลาย และอีกเรื่องหนึ่งคือ เรื่องทางคดีที่บิดาและมารดาอยู่ระหว่างฟ้องร้องเรื่องการรับเลี้ยงดูลูก อาจจะถูกนำไปเป็นเหตุผลว่าฝั่งมารดาไม่มีความสามารถในการเลี้ยงดูลูกๆ ได้ ก็จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมสภาพจิตใจ ซ้ำเติมความสูญเสียของผู้เป็นแม่ สำหรับสังคมอยากจะขอวิงวอนเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์ เรื่องการกระจายข่าวต่างๆ มันจะยิ่งเป็นการกระจายความรุนแรง และซ้ำเติมครอบครัวผู้สูญเสีย เป็นการหาคนรับผิด ซึ่งมันไม่เกิดประโยชน์ มีแต่บานปลาย อยากให้สังคมรับทราบว่าเรื่องนี้เป็นอุบัติเหตุที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น เมื่อรับทราบแล้วไม่อยากให้วิพากษ์วิจารณ์คนนั้น คนนี้ แต่ควรให้ความเห็นอกเห็นใจ และหาทางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์อีก