แพทยสภา ปธพ.6 จัดทีมแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครั้งที่ 2 จังหวัดลพบุรี เตรียมเปิดคลินิดเฉพาะทางกว่า 20 สาขา ใน 3 โรงพยาบาล รองรับประชาชนกว่า 1 หมื่นคน เพิ่มการเข้าถึงการรักษาโรคยากและซับซ้อน
วันนี้ (19 เม.ย.) เมื่อเวลา 13.00 น. นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวเปิดโครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ครั้งที่ 2 จัดโดยมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ แพทยสภา สถาบันพระปกเกล้า และนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์ สำหรับผู้บริหารระดับสูงรุ่นที่ 6 (ปธพ.6) ในโอกาสครบรอบ 50 ปี แพทยสภา ว่า โครงการดังกล่าวเป็นการระดมทีมแพทย์เฉพาะทางผู้เชี่ยวชาญ 20 สาขา ไปตั้ง รพ.สนามเพื่อร่วมกันตรวจรักษาโรคยาก ซับซ้อน ในโรงพยาบาล 3 แห่ง จ.ลพบุรี ได้แก่ รพ.อานันทมหิดล รพ.พระนารายณ์มหาราช และ รพ.มะเร็งลพบุรี ระหว่างวันที่ 4 - 6 พ.ค. 2561
นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะที่ปรึกษามูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจัดขึ้นเป็นปีที่ 6 และจังหวัดที่ 6 หลังดำเนินการสำเร็จมาแล้ว 5 ปีต่อเนื่อง และเป็นครั้งที่ 2 ของโครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เพื่อนำแพทย์ผู้เชี่ยวชาญลงสู่ชุมชน ลดช่องว่างการรักษาพยาบาลระดับสูงกับพื้นที่ขาดแคลน
พล.ต.นพ.นิมิตร์ สะโมทาน ประธานโครงการหน่วยแทย์อาสาฯ กล่าวว่า โครงการนี้จะมีแพทย์จิตอาสาเข้าร่วมกว่า 400 คน จากคณะแพทยศาสตร์ 21 แห่ง ราชวิทยาลัยผู้เชี่ยวชาญ 15 แห่ง แพทย์จากภาครัฐ เหล่าทัพ และเอกชน โดยจะมีคลินิกเฉพาะทาง 20 สาขาที่เปิดให้บริการ ได้แก่ คลินิกศัลยกรรม คลินิกมะเร็งเต้านม คลินิกจักษุ คลินิกหัวใจและหลอดเลือด คลินิกระบบประสาท คลินิกสอนกู้ชีพปั๊มหัวใจ คลินิกทันตกรรม คลินิกหู คอ จมูก คลินิกสูตินรีเวช คลินิกส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร คลินิกโรคผิวหนัง คลินิกตรวจสุขภาพและคัดกรอง คลินิกเทคนิกการแพทย์หน่วยรับบริการโลหิต คลินิกพัฒนาการเด็ก คลินิกกุมารและเด็กอ้วน คลินิกกายอุปกรณ์ คลินิกรักษาความพิการเคลื่อนที่ คลินิกข้อเข่าและเวชศาสตร์ฟื้นฟู คลินิก และ แพทย์แผนไทยและฝังเข็ม ตั้งเป้าหมายให้การรักษาผู้ป่วยประมาณ 1 หมื่นราย โดยการจองนัดหมายล่วงหน้า
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัด สธ. กล่าวว่า จังหวัดลพบุรีถือเป็นจังหวัดที่ไม่ใหญ่มาก รพ.ในพื้นที่ก็ไม่ใหญ่ มีแพทย์เฉพาะทางไม่ครบทุกสาขา ดังนั้น โครงการดังกล่าวจึงเข้ามาช่วยเสริมตรงนี้ เพื่อช่วยเติมเต็มให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับโอกาสในการรักษาโรค ลดความเหลื่อมล้ำทางการแพทย์ และเข้าถึงการรักษาอย่างรวดเร็ว