สงกรานต์ 2 วัน ดับแล้ว 99 ราย เกิดอุบัติเหตุ 1,026 ครั้ง เจ็บ 1,085 คน ตายเป็นศูนย์มี 29 จังหวัด ตายสะสมสูงสุดที่โคราช บุรีรัมย์ และเพชรบูรณ์ ปรับแผนเข้มตรวจความเร็วทางตรง ตรวจวัดแอลกอฮอล์มากขึ้น
วันนี้ (13 เม.ย.) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แถลงข่าวผลการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2561 ว่าศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2561 ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 12 เม.ย. ซึ่งเป็นวันที่สองของช่วง 7 วันอันตรายสงกรานต์พบ เกิดอุบัติเหตุ 579 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 60 ราย บาดเจ็บ 624 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ ดื่มแล้วขับ 42.83% ขับรถเร็ว 24.35% ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ จักรยานยนต์ 78.84% ส่วนใหญ่เกิดในทางตรง 66.15% ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือ 16.01-20.00 น.
นายอาคม กล่าวว่า จากการตั้งจุดตรวจหลัก 2,032 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 65,492 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 7.64 แสนคัน มีผู้ถูกดำเนินคดี 154,773 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 43,464 ราย ไม่มีใบขับขี่ 42,609 ราย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ บุรีรัมย์ จำนวน 21 ครั้ง จังหวัดที่มีเสียชีวิตสูงสุด คือ นครราชสีมา และสลกนคร จังหวัดละ 4 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด คือ เชียงราย จำนวน 23 คน
นายอาคม กล่าวว่า สรุปอุบัติเหตุสะสมทางถนน 2 วัน เกิดอุบัติเหตุรวม 1,026 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 99 รายผู้บาดเจ็บรวม 1,085 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตหรือตายเป็นศูนย์มี 29 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด คือ เชียงราย 38 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุดคือ นครราชสีมา บุรีรัมย์ และเพชรบูรณ์ จังหวัดละ 5 ราย และจังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด คือ เชียงราย 41 คน
“วันที่ 13 เม.ย.เป็นวันมหาสงกรานต์ ประชาชนส่วนใหญ่เดินทางกลับถึงภูมิลำเนาแล้ว และท่องเที่ยว ทำบุญ รวมถึงเล่นน้ำสงกรานต์ ขณะที่บางส่วนยังอยู่ระหว่างการเดินทาง ศปถ.จึงกำชับให้จังหวัดเข้มข้นดูแลทั้งสายหลัก สายรอง และถนนในชุมชน เน้นย้ำจุดตรวจเข้มงวดในการเรียกตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ กวดขันการใช้ความเร็ว เพิ่มจำนวนจุดตรวจบนเส้นทางสายตรงที่มีระยะทางยาว เพราะจากข้อมูลพบดื่มแล้วขับเป็นสาเหตุหลักและมักเกิดในทางตรง เพิ่มความถี่การเรียกตรวจความพร้อมของผู้ขับขี่ โดยเฉพาะพนักงานขับรถโดยสารสาธารณะ ด่านตรวจบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด ดูแลความปลอดภัยของรถจักรยานยนต์ การใช้อุปกรณ์นิรภัย รถกระบะที่บรรทุกคนโดยสารท้ายกระบะในลักษณะเสี่ยงอันตราย เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุรุนแรง ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลความปลอดภัยของเส้นทางสัญจรทางน้ำและแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำ” นายอาคม กล่าว