xs
xsm
sm
md
lg

สงกรานต์เมาไม่ขับ ชี้ แอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มก.เปอร์เซ็นต์ เสี่ยงอุบัติเหตุเพิ่ม 2-6 เท่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมควบคุมโรค ย้ำ สงกรานต์นี้เดินทาง “เมาไม่ขับ” ชี้แอลกอฮอล์ในเลือดยิ่งมาก ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงอุบัติเหตุ ระบุ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เสี่ยงอุบัติเหตุเพิ่ม 2 เท่า 80 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์เพิ่มเป็น 3 เท่า 100 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เพิ่มเป็น 6 เท่า

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงสงกรานต์ปี 2560 มีคนเสียชีวิต 440 คน บาดเจ็บนอน รพ. 4,141 ราย สูงสุดในวันที่ 13 เม.ย. คิดเป็นร้อยละ 21 สูงสุดในกลุ่มคนขับรถจักรยานยนต์ และเป็นถนนสายรอง ช่วงเวลาที่เกิด 15.00 - 20.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่กฎหมายอนุญาตให้ขายสุราได้ ทำให้เป็นสาเหตุการเกิดอุบัติสูงถึงร้อยละ 43 นอกจากนี้ ยังพบว่าในจำนวนผู้บาดเจ็บทั้งหมดนั้นเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี และมีการดื่มสุรา 1,669 ราย จะเห็นว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุสูญเสียจำนวนมากนั้น ปีนี้จะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะ พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า จากข้อมูลความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือดมีผลต่อสมรรถภาพในการขับขี่ของคน โดยพบว่าหากร่างกายมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่ 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะทำให้มีผลในการขับขี่เล็กน้อยในบางคน โอกาสในการเกิดอุบัติเหตุใกล้เคียงกับคนที่ไม่ดื่ม ถ้ามีแอลกอฮอล์ในเลือด 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ มีผลทำให้ความสามารถในการขับขี่ลดลงร้อยละ 8 เป็นระดับที่นักวิจัยยอมรับว่า การขับรถเป็นอันตราย โอกาสเกิดอุบัติเหตุเพิ่มเป็น 2 เท่าของคนที่ไม่ดื่ม ถ้าปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดอยู่ที่ 80 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ มีผลทำให้ความสามารถในการขับขี่ลดลงร้อยละ 12 หลายประเทศต้องใช้กฎหมายควบคุม เพราะมีโอกาสทำให้เกิดอุบัติเหตุเพิ่มเป็น 3 เท่าของคนที่ไม่ดื่ม

ถ้าปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด 100 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ทำให้ความสามารถในการขับขี่ลดลงร้อยละ 15 การขับขี่แย่ลงอย่างรวดเร็ว มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นเป็น 6 เท่าของคนที่ไม่ดื่ม หากปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดสูง 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ทำให้ความสามารถในการขับขี่ลดลงร้อยละ 33 โอกาสเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น 40 เท่าของคนที่ไม่ดื่ม และถ้าปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดพุ่งไปที่ 200 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์สมรรถภาพลดลงตามสัดส่วนกับระดับแอลกอฮอล์ ซึ่งไม่สามารถวัดโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุได้เพราะควบคุมการทดลองไม่ได้ แต่โอกาสเกิดอุบัติเหตุสูงมาก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลกรมควบคุมโรค พบว่า หากดื่มแล้วจะขับรถต้องรอเวลาประมาณ 1 ชั่วโมงก่อน เพื่อให้สร่างเมา โดยหากเป็นสุราที่มีการผสม 1 ฝา หรือประมาณ 15 ซีซี ต่อ 1 แก้วนั้น ไม่ควรดื่มเกิน 6 แก้ว เป็นเบียร์ ไม่ควรดื่มเกิน 2 กระป๋อง หรือ 2 ขวดเล็ก ถ้าเป็นไลท์เบียร์ ไม่ควรดื่มเกิน 4 กระป๋อง หรือ 4 ขวดเล็ก ถ้าเป็นไวน์ไม่ควรดื่มเกิน 2 แก้ว แก้วละ 80 ซีซี เพราะถ้ามากกว่านี้จะทำให้ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดสูงเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งกฎหมายไม่อนุญาตให้ขับขี่ยานพาหนะ


กำลังโหลดความคิดเห็น