xs
xsm
sm
md
lg

4 ข้อเสนอ “กัญชาทางการแพทย์” ของหนุ่มไทย หลังพาคณะปลัด สธ.-อภ.ไปดูโรงปลูกที่แคนาดา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“หมอสมยศ” ผู้เขียนหนังสือ “กัญชาคือยารักษามะเร็ง” โพสต์ 4 ข้อเสนอหนุ่มไทยหลังนำคณะปลัด สธ. และองค์การเภสัชฯ ดูโรงเรือนปลูกกัญชาทางการแพทย์ในแคนาดา แนะแก้ กม.ชัดใช้แค่ทางการแพทย์ มีคณะทำงานโดยเฉพาะ ปลูกในโรงเรือนไม่ใช่แบบไร่ ช่วยคุมคุณภาพและความปลอดภัยได้ อย่าให้เสียชื่อทีมประวัติศาสตร์ทีมแรกที่มาดูงาน

เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2561 นพ.สมยศ กิตติมั่นคง ผู้เขียนหนังสือกัญชาคือยารักษามะเร็ง ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเพจ “Dr.Somyot” โดยระบุถึงผู้ใช้งานเฟซบุ๊กชื่อ Banks Rutchasit ที่ได้รับมอบหมายในการพาปลัดกระทรวงสาธารณสุข คณะผู้บริหารองค์การเภสัชกรรม มาศึกษาอุตสาหกรรมทางการแพทย์ โดยเฉพาะประเด็นกัญชาทางการแพทย์ของประเทศแคนาดา ซึ่งได้สรุปสิ่งที่ได้จากการดูงานว่า Supreme Pharmaceutical เป็นบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาลแคนาดาเพื่อผลิตกัญชาทางการแพทย์ในระดับอุตสาหกรรม มีพื้นที่ปลูกขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ มีการปลูกกัญชาในระบบปิดทำให้ได้ดอกกัญชาเกรดพรีเมียมในการนำไปสกัดเป็นยา คุณภาพมีความสม่ำเสมอ มีผลผลิตตลอดปี โดยภายในปี 2018 จะแปรรูปทำ “น้ำมันกัญชา” ภายใต้แบรนด์ของตัวเอง ส่วนการรักษาความปลอดภัยมีความแน่นหนาและรัดกุม ทั้งส่วนของพนักงานและปริมาณของผลผลิตที่ต้องมีการบันทึกอย่างละเอียด และรายงานต่อรัฐบาลเพื่อชี้แจงความโปร่งใส

จากการนำทีมรัฐบาลไทยไปดูอุตสาหกรรมกัญชาทางการแพทย์ที่ประเทศแคนาดา ผมได้มีความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล ดังนี้ 1. เป้าหมายในการแก้กฎหมายจะต้องชัดเจน โดยจะต้องมุ่งในการแก้ไขให้สามารถใช้กัญชามาใช้ประโยชน์ด้านการแพทย์ได้เท่านั้น จึงจะสามารถแก้กฎหมายได้เร็ว สร้างผลกระทบต่อสังคมน้อยที่สุด 2. จะต้องมีคณะทำงานเพื่อศึกษาประโยชน์ และการทำ Legalization อย่างจริงจัง หากประเทศไทยดำเนินการเรื่องนี้ล่าช้า หลังจากนี้ไปแล้ว 10-20 ปี จะพบว่าเราได้สูญเสียโอกาสในการเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนี้ไปอย่างน่าเสียดาย ทั้งที่ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลมาเยี่ยมอุตสาหกรรมนี้ถึงแคนาดา หากดำเนินการช้า ทีมประวัติศาสตร์ทีมแรกของเมืองไทยที่ได้มาดูอุตสาหกรรมกัญชาทางการแพทย์นี้ ก็จะโดนตั้งคำถามว่าเราได้พยายามขับเคลื่อนเรื่องนี้มากน้อยเพียงใด ทำไมจึงปล่อยให้เมืองไทยเสียโอกาส

3. การตั้งเป้าที่จะผลิตกัญชาออกมาเป็นจำนวนมากๆ จากการปลูกเป็นไร่ ปลูกเป็นทุ่งเหมือนปลูกข้าวนั้น ยังถือว่าเป็นการตั้งโจทย์ที่ผิด เพราะการปลูกแบบนี้นั้นไม่สามารถควบคุมคุณภาพการผลิตและควบคุมความปลอดภัยได้ นอกจากนี้ ในอนาคตอันใกล้ประเทศไทยจะต้องเจอกับกัญชา GMO จากประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้กัญชาเกรดทั่วไปไม่สามารถแข่งขันได้เลย

4. ประเทศไทยไม่ได้จำเป็นต้องเริ่มจากศูนย์ ในการศึกษาด้านกฎหมาย นโยบายรัฐและผลกระทบต่อสังคม เรามีแหล่งอ้างอิงจากต่างประเทศมากมาย ไม่ว่าจะเป็น แคนาดา เยอรมนี สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย หากประเทศไทยมีคณะทำงานที่ศึกษาเรื่องนี้จริงจัง เราสามารถศึกษาจากประเทศเหล่านี้ได้ และนำมาปรับใช้ให้เข้ากับกฏหมายและสภาพสังคมของประเทศไทย

ลักษณะการใช้งานกัญชาทางการแพทย์ที่ประเทศแคนาดาที่ได้รับการยอมรับกันทั้งในแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์ทางเลือกขณะนี้คือ ความสามารถในการบำบัดรักษา “Chronic pain” ซึ่งกัญชาสามารถระงับอาการเจ็บปวดได้ดีมาก ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และ ลดการพึ่งพายา Painkiller ต่างๆ ในบางเคสงั้นมีจำเป็นที่จะต้องกินยาระงับอาการปวดตลอดเวลา ทำให้เกิดพิษที่ตับได้ การนำกัญชามาใช้ในการระงับอาการปวดจึงเป็นทางเลือกที่ในขณะนี้นั้น สามารถลดผลข้างเคียงที่อันตรายของยาแก้ปวดได้

สำหรับกลุ่มโรคที่นานาชาติให้ความสนใจในการนำกัญชาและสารสกัดจากกัญชามาใช้บัดบัดรักษานั้นได้แก่ Chronic pain (อาการปวดเรื้อรัง) Cancer (มะเร็ง) Multiple sclerosis (โรคปลอกประสาทอักเสบหรือโรคเอ็มเอส) Alzheimer’s disease (โรคอัลไซเมอร์) Diabetes (โรคเบาหวาน) Epilepsy (โรคลมชัก) Parkinson’s disease (โรคพาร์กินสัน) Rheumatoid Arthritis (โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์) Post-traumatic stress disorder (โรคเครียดจากเหตุการณ์ร้ายแรง หรือโรคพีทีเอสดี) Crohn’s disease (โรคโครห์น) Glaucoma (โรคต้อหิน)

ทั้งนี้ มีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กเข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมากว่า อย่าให้การเดินทางในครั้งนี้สูญเปล่า และถือเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ในการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์

ภาพจากเฟซบุ๊ก Banks Rutchasit และเฟซบุ๊กเพจ Dr.Somyot



กำลังโหลดความคิดเห็น