xs
xsm
sm
md
lg

ติดตามอย่างน้อย 1 ปี เด็กถูกหมากัดแผลเหวอะ แม้ฉีดวัคซีนแล้วก็ตาม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


หมอจุฬาฯ ชี้ เด็กถูกสุนัขกัดแผลเหวอะ แม้ฉีดวัคซีน - เซรุ่ม ต้องเฝ้าระวังโรคอีก 1 ปี ถามกรมปศุสัตว์เล็งก่อสร้างโรงงานวัคซีนพิษสุนับ้า เป็นวัคซีนในคนหรือสัตว์

จากกรณีเด็กถูกสุนัขกัด แม้จะได้รับวัคซีนและเซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว แต่หลังจากกรมปศุสัตว์ตรวจเชื้อสุนัขที่กัดเด็ก กลับพบเชื้อพิษสุนัขบ้า ทำให้กังวลว่าการฉีดวัคซีนและเซรุ่มจะได้ผลหรือไม่

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า กรณีถูกสุนัขกัดจนมีแผลเหวอะหวะ หรือถูกกัดมาก ถือเป็นเคสที่ต้องระวังอย่างมาก เพราะมีความเสี่ยงสูงสุด แม้จะฉีดวัคซีนและฉีดเซรุ่มรอบแผลแล้วก็ตาม หรือแม้แต่อาการจะดีขึ้นก็จำเป็นต้องเฝ้าระวังไปอีก 1 ปี จึงจะมั่นใจได้ว่าปลอดจากเชื้อพิษสุนัขบ้าแล้ว อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญต้องระมัดระวังสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด ทั้งหมา แมว หากไม่มั่นใจว่าฉีดวัคซีนหรือไม่ ต้องหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะสัตว์จรจัด ส่วนใครที่ถูกกัด ข่วน หรือเลียก็ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคดีที่สุด เพราะป้องกันดีกว่าไม่ป้องกันเลย

เมื่อถามถึงกรณีกรมปศุสัตว์มีแผนสร้างโรงงานวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ต้องชัดเจนก่อนว่าเตรียมแผนสร้างโรงงานวัคซีนในคนหรือในสัตว์ เพราะหากป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในคน ต้องถามกลับว่าจะคุ้มค่าและมีความเป็นไปได้แค่ไหน เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่เคยมีโรงงานวัคซีนในคนสำเร็จ อย่างโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) วางแผนจะก่อสร้างก็ไม่แล้วเสร็จเสียที ใช้เวลานานมาก ขณะที่หากมองเรื่องความคุ้มทุนแล้ว ปัจจุบันทั้งจีนและอินเดียก็มีศักยภาพในการผลิตวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในคนเช่นกัน หากจะผลิตก็ต้องมองหลายอย่าง

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า หากเป็นการสร้างโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ก็ต้องพิจารณาให้ดี เพราะแม้จะเป็นวัคซีนที่ผลิตง่าย แต่ก็มีราคาถูกอยู่แล้ว และที่สำคัญต้องพิจารณาด้วยว่า ไทยสามารถควบคุมโรค ทั้งปูพรมคุมกำเนิดในสัตว์ ฉีดวัคซีน โดยควบคุมโรคได้ใน 2 ปีหรือไม่ มีการปิดประตูชายแดน คอยควบคุมโรคข้ามแดน ซึ่งหากเป็นเช่นนี้จริงๆ ก็ไม่จำเป็นต้องตั้งโรงงาน แต่หากทำไม่ได้ หรือต้องใช้เวลาในการควบคุมโรคถึง 3 ปี ก็สร้างโรงงานไว้ก็ดี เพื่อความมั่นคงของประเทศ ส่วนที่ว่าหากสร้างโรงงานผลิตวัคซีนในสัตว์ได้แล้ว มีโอกาสส่งออกได้หรือไม่ อันนี้ค่อนข้างยากเพราะคู่แข่งทั้งจีน อินเดียก็มีศักยภาพสูงในการผลิตซึ่งปัจจุบันจีนก็ผลิตเอง และยังนำมาบรรจุเก็บที่สถานเสาวภาด้วย

“ที่สำคัญ ต้องชัดเจนเรื่องคำถามต่างๆ ด้วย อย่างวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์มีราคาถูกมากฉีดได้ในราคาตัวละประมาณ 10 - 15 บาท แต่ที่ผ่านมาเคยมีข่าวว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ลงไปตรวจสอบพบว่าบางพื้นที่มีการใช้งบกับการฉีดวัคซีนให้สัตว์ตกตัวละ 50 บาท ซึ่งตรงนี้ สตง. ลงไปตรวจสอบเจอที่ท้องถิ่นบางแห่ง ก็ต้องไปสอบถามว่าสุดท้ายเรื่องนี้เป็นอย่างไร ควรมีคำตอบที่ชัดเจน” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น