โคราชอัตราการเกิดน้อย เข้าสังคมสูงวัยสมบูรณ์แบบเร็วกว่าประเทศ ชูโครงการมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกของชีวิต หวังเด็กเกิดใหม่มีคุณภาพ เตรียมความพร้อมคู่สามีภรรยาตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์จนถึงหลังคลอด ดึงสังคมมีส่วนร่วมทั้งวัด พรีเวดดิ้ง เผยปี 61 เด็กคลอดตามกำหนดน้ำหนักตัวมากกว่า 2,500 กรัมทั้งหมด
วันนี้ (9 มี.ค.) ที่โรงพยาบาลพิมาย จ.นครราชสีมา นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมการดำเนินงานโครงการมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกของชีวิต ว่า ประเทศไทยประสบปัญหาเด็กเกิดน้อย โดยอัตราการมีบุตรเฉลี่ยเพียง 1.6 คน ซึ่งต่ำกว่าอัตราทดแทนทางประชากรซึ่งควรต้องอยู่ที่ 2.1 คน ซึ่งการจะเพิ่มอัตราการเกิดถือเป็นเรื่องยาก ไม่ว่าประเทศใดก็ไม่สามารถทำได้สำเร็จ อย่างประเทศสิงคโปร์ก็ประสบปัญหามากกว่า โดยอัตราการมีบุตรอยู่ที่ 1.1 คนเท่านั้น แม้จะมีมาตรการส่งเสริมให้มีบุตร เช่น การให้เงินส่งเสริม ก็ไม่สามารถเพิ่มอัตราการเกิดขึ้นมาใหม่ ซึ่งประเด็นสำคัญคือ แม้จะมีการเกิดน้อย แต่ก็ต้องทำให้อัตราการเกิดนั้นมีคุณภาพมากที่สุด เนื่องจากปัจจุบันจากการสำรวจพัฒนาการเด็กของกรมอนามัยในปี 2560 พบว่า เด็กแรกเกิดถึง 2 ปี มีพัฒนาการไม่สมวัยร้อยละ 23.2 ส่วนเด็กอายุ 3 - 5 ปี มีพัฒนาการไม่สมวัยสูงถึงร้อยละ 42 หรือ 1 ใน 3 จึงจำเป็นต้องเร่งค้นหาเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้าให้ได้รับการส่งเสริมกระตุ้นพัฒนาการ ซึ่งร้อยละ 90 พบว่าสามารถกลับมาเป็นปกติได้ แต่การดำเนินารที่ดีที่สุดคือดูแลตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์ เพื่อให้เด็กเกิดมามีคุณภาพมากที่สุด ซึ่ง จ.นครราชสีมา มีการดำเนินการโครงการมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกของชีวิต ซึ่งถือว่าตอบโจทย์
นพ.วชิระ กล่าวว่า สำหรับ จ.นครราชสีมา ถือว่ามีความน่าเป็นห่วง เนื่องจากเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์แบบเร็วกว่าระดับประเทศ ซึ่งประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงอายุสมบูรณ์แบบในปี 2564 คือมีผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด แต่จังหวัดนครราชสีมาพบว่า มีผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ถึงร้อยละ 19 ของประชากรทั้งจังหวัดแล้ว คาดว่า ภายในปี 2561 - 2562 อาจจะเข้าสู่สังคมสูงอายุสมบูรณ์แบบก่อน ขณะเดียวกันเมื่อดูจากอายุขัยเฉลี่ยนั้นถือว่าต่ำกว่าระดับประเทศ ตรงนี้หมายความว่ามีอัตราการเกิดน้อย ซึ่งการจัดโครงการมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกของชีวิต จึงถือว่าตอบโจทย์ในการทำให้การเกิดของพื้นที่นี้มีคุณภาพมากที่สุด โดย 1,000 วันแรกของชีวิตหมายถึง ช่วงเวลาที่ทารกอยู่ในครรภ์มารดาตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิจนถึงอายุ 2 ปี ถือว่าเป็นช่วงวัยทองในการพัฒนาสมอง จึงต้องให้ความสำคัญกับโภชนาการที่ดีตั้งแต่ช่วงแรกของชีวิต โดยช่วง 270 วันที่อยู่ในท้องแม่ แม่ควรกินอาหารที่ดีมีประโยชน์ เช่น ปลา ตับ ไข่ ผัก ผลไม้ และนมรสจืด เสริมด้วยวิตามินบำรุงที่มีไอโอดีน เหล็ก และโฟลิก ช่วง 180 วัน สำหรับหลังคลอดลูกอายุตั้งแต่แรกเดถึง 6 เดือน ควรได้กินนมแม่อย่างเดียว จากนั้นช่วง 6 เดือนถึง 2 ปี ให้อาหารตามวัยที่เหมาะสม ควบคู่กับนมแม่ให้นานที่สุด เสริมด้วยวิตามินที่มีธาตุเหล็กเพื่อเป็นการเตรียมสมอง ร่วมกับพัมนาทักษะของเด็กโดยกระบวนการกระตุ้นผ่านกิจวัตรประจำวัน ในรูปแบบกิน กอด เล่น เล่า นอน เฝ้าดูฟันที่เหมาะสมจากผู้ปกครองและชุมชน
นพ.สุผล ตติยนันทพร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพิมาย กล่าวว่า การดำเนินการโครงการมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกของชีวิต แบ่งออกเป็น 5 ระยะ คือ 1. ระยะก่อนการตั้งครรภ์ ป้องกันความพิการแต่กำเนิด มีการสนับสนุนยาเม็ดโฟลิกและยาเม็ดธาตุเหล็กให้กับหญิงวัยเจริญพันธุ์ 2. ระยะฝากครรภ์ มีการจัดกิจกรรมโรงเรียนพ่อแม่พาเยี่ยมชมห้องคลอดเพื่อเตรียมความพร้อมหากต้องมาคลอดจริง สนับสนุนนมและไข่ 90 วัน 90 กล่อง และเกลือเสริมไอโอดีน 3. ระยะคลอด ทำห้องคลอดมีคุณภาพ แม่เกิดรอด ลูกปลอดภัย และมีการเยี่ยมรับขวัญในโรงพยาบาล 4. ระยะแรกเกิดถึง 6 เดือน มีการส่งเสริมเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สนับสนุนยาเสริมธาตุเหล็กแก่หญิงให้นมบุตร การจัดตะกร้าเยี่ยมบ้าน นมรถทัวร์ พี่เลี้ยงนมแม่ และ 5. ระยะ 6 เดือนถึง 2 ปี มีการติดตามประเมินและกระตุ้นพัมนาการสนับสนุนยาน้ำเสริมธาตุเหล็ก ดูแลสุขภาพช่องปาก การจัดตะกร้าเยี่ยม 6 เดือน ของเล่นจากโรงเรียนผู้สูงอายุมอบให้แก่เด็กในชุมชน การส่งเสริมอาหารตามวัย พี่เลี้ยงบุญธรรมเล่านิทาน และสนามเด็กเล่นโดยชุมชน
“โครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานราชการ สังคม และประชาชนในพื้นที่ ได้รับงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลในการดำเนินงาน รวมถึงวัดป่าพิมายที่ท่านเจ้าอาวาสให้ความสำคัญ เช่น ทำโครงการนมก้นบาตร และสังฆทานนมจืด เพื่อให้มีนมในการนำมาเสริมโภชนาการให้แก่หญิงตั้งครรภ์ หรือการร่วมมือกับพรีเวดดิ้งเพื่อเข้าถึงคู่สามีภรรยาใหม่ในการเตรียมความพร้อมในการมีบุตรที่มีคุณภาพ เป็นต้น ซึ่งจากการดำเนินการในอำเภอพิมาย พบว่า อัตราทารกแรกคลอดตามกำหนดมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 2,500 กรัมในไตรมาส 2 ปี 2561 ไม่มีเลย จากเดิมที่ปี 2560 ต.ในเมืองยังอยู่ที่ 12.71% ต.โบสถ์อยู่ที่ 9.2% และ ต.ดงใหญ่อยู่ที่ 9.8% ส่วนอัตราการคลอดทั้งก่อนกำหนดและตามกำหนดไม่เกินค่ามาตรฐาน 7%” นพ.สุผล กล่าว