สปสช. ประสานทุกเขตรุกสำรวจลงทะเบียนสิทธิบัตรทอง “พระสงฆ์” พร้อมร่วม มจร. วิจัยสิทธิประโยชน์ดูแลสุขภาพพระสงฆ์ หวังเสนอเป็นนโยบาย
นพ.ประจักษ์วิช เล็บนาค รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า หลังจากธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติได้ประกาศใช้เมื่อปลายปี 2560 จะส่งผลให้โครงการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติดำเนินไปอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเบื้องต้น สปสช. เขตในแต่ละพื้นที่ได้เร่งสำรวจเลข 13 หลัก พร้อมลงทะเบียนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้กับพระภิกษุสงฆ์ที่จำวัดในพื้นที่ ดำเนินการร่วมกับมหาเถรสมาคม สำนักพระพุทธศาสนา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ก่อนที่จะขับเคลื่อนโดยใช้ “กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น” เพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่ง เน้นการมีส่วนร่วมของ อปท. และ ชุมชน ดำเนินกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้กับพระสงฆ์
“การขับเคลื่อนสุขภาพพระสงฆ์ ก่อนหน้านี้ แม้ว่า สปสช. จะขับเคลื่อนผ่านงบส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแล้ว แต่ยังเป็นการดำเนินงานในบางพื้นที่เท่านั้น เฉพาะพื้นที่ที่มีผู้สนับสนุนและดำเนินการได้ แตกต่างจากการใช้กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นกลไกขับเคลื่อน ก่อให้เกิดความร่วมมือจากท้องถิ่นและชุมชน ซึ่งจะครอบคลุมการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ในพื้นที่มากกว่า” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวและว่า ในการร่วมขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ฯ นี้ สปสช. ยังจะมีการแต่งตั้ง “คณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ” ซึ่งมีตนเป็นประธานเพื่อให้เกิดผลการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นไปตามเจตนารมณ์ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์
นพ.ประจักษ์วิช กล่าวว่า นอกจากนี้ สปสช. ยังจะมีการทบทวนสิทธิประโยชน์การรักษาและบริการสุขภาพของพระสงฆ์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย (มจร.) ซึ่งอยู่ระหว่างการทำการวิจัย จัดเก็บการเข้ารับบริการของพระสงฆ์ ว่าสิทธิประโยชน์ที่มีอยู่ ตอบโจทย์การดูและพระภิกษุสงฆ์หรือไม่ ทั้งในแง่การรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รวมถึงการฟื้นฟูสมรรถาพการแพทย์ ซึ่งจะมีการนำเสนอเป็นนโยบายต่อไป